
กฟผ.ลงพื้นที่ดูงานจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก จากภูมิปัญญาของชาวบ้านห้วยยาง
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ 11 พ.ย.ที่ ศาลาอเนกประสงค์ ริมบึงหนองแสง บ.ห้วยยาง ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่นนายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม (กฟผ.) พร้อมด้วยนายบุญส่ง จีราระรื่นศักดิ์ ผอ.ฝ่ายปฎิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟผ.)นางรัชดา ทองอยู่ ผอ.ฝ่ายกิจการสังคม (กฟผ.) นายปกรณ์ ภู่หนู ผช.ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-บริหาร นายกนก ตั้งพูลผลวนิชย์ ผช.ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-บริหาร ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือพนักงาน ลงพื้นที่ศึกษาดูงานจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กการจัดการดินและการทำเกษตรอินทรีย์ ภายในชุมชนบ้านห้วยยางพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันกับชุมชนเครือข่าย และเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ของโครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนยั่งยืน โดยมีนายทวี อรัญศรี นายก อบต.ดงเมืองแอม ผู้นำชุมชนและ ชาวบ้าน ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอข้อมูลและพาชม
นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์
นายสืบพงษ์ บูรณศิรินทร์ รองผู้ว่าการกิจการสังคม (กฟผ.) กล่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ในเรื่องของระบบไฟฟ้า และระบบสายส่ง อยู่ทั่วประเทศ เลยมีความคิดในเรื่องการสนับสนุน ของโครงการดีๆ โดยเฉพาะโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำให้ชุมชนมีความยั่งยืนตลอดไป ครั้งนี้นับเป็นโอกาสดีที่ กฟผ.ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำโครงการเพื่อสื่อสารกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนถาวร
นายสืบพงษ์ กล่าวอีกว่าในการมาในครั้งนี้ได้มีโอกาสลงพื้นที่บ้านห้วยยาง ต.ดงเมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ได้เห็นการริเริ่มโครงการที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ของที่นี้ เพราะเป็นโครงการที่ไม่ได้เกิดจากการยัดเยียดให้ทำ หากแต่เกิดขึ้นจากการแก้ไขร่วมกับสังคมชุมชนช่วยกันทำในลักษณะการประชุมของคณะกรรมการหมู่บ้านช่วยกันคิด โดยมองจากปัญหาของพื้นที่ของเขาเอง เพราะพื้นที่บ้านห้วยยาง จริงๆแล้วเป็นหมู่บ้านเกษตรกร ที่ทำการเกษตรกรรม ทราบว่ามีปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเป็นหลัก ก็ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้กันมานาน จนนำไปสู่การประชุมแก้ไขปัญหา ทำให้ได้ความรู้ เทคนิค เทคโนโลยี จากทาง กฟผ.และจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้คำแนะนำ
นายสืบพงษ์ กล่าวด้วยว่าในขณะเดียวกันพื้นที่เองก็ได้มีการทำงานร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้ได้แหล่งน้ำ มาทำเป็นน้ำประปา หรือการใช้ในทางเกษตรกรรม อย่างถาวร เริ่มต้นจากการที่ไปทำจากที่สูง มีการวางท่อลงมาโดยใช้แนวคิดจากเทคโนโลยีของท้องถิ่นเอง ในเรื่องภูมิปัญญาของชาวบ้านเอาผสมผสานกัน ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น ในการดำเนินการไม่ได้ใช้เงินอะไรมากมาย โดยริเริ่มกันจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันลงแรงทำกันเอง ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ คนที่มีแรงก็ใช้แรง คนที่เป็นแม่บ้านก็ช่วยสนับสนุนกันหุงหาอาหารช่วยกัน จนทำให้โครงการนี้สำเร็จ ในส่วนที่จำเป็นต้องใช้เงิน ก็ได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ.ส่วนหนึ่งและงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนหนึ่ง ที่มาช่วยสนับสนุนในช่วงหลังมานี้
นายสืบพงษ์ กล่าวและว่า โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนยั่งยืนนี้ ถือได้ว่าเป็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน เป็นที่น่าประทับใจเป็นอย่างมาก ที่ชุมชนมีความต้องการพัฒนาพื้นที่ตัวเองให้ดีขึ้น นอกจากเรื่องแหล่งน้ำนี้แล้ว ยังมีเรื่องของการเพาะปลูกพืช โดยมองในเรื่องของอาหารที่มีความต้องการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนในเรื่องการสานต่อของโครงการนี้ ทาง กฟผ.เอง ได้มีการร่วมมือกับชุมชนในลักษณะนี้ มาโดยตลอด โดยจับมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการลงพื้นเข้ามามีส่วนร่วม ลงมาจัดการกับปัญหาความเดือดร้อนของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบส่ง และอีกอย่างพื้นที่บ้านห้วยยางที่แห่งนี้อยู่ใกล้กันกับระบบส่ง และทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี
นายบุญส่ง จีราระรื่นศักดิ์
ด้านนายบุญส่ง จีราระรื่นศักดิ์ ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (กฟผ.) กล่าว่า ในส่วนของฝ่ายปฏิบัติการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ที่พาดผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีสายส่ง 500 เมกกะวัตต์ จ่ายไฟไปยังสายส่งต่อเชื่อมกันไป ซึ่งทางเราก็เห็นว่าโครงการที่ กฟผ.ได้ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์เป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนโดยเฉพาะชุมชนใกล้เคียงแหล่งสายส่งให้มีชีวิตที่ดีขึ้นและทำให้เกิดความยั่งยืน กฟผ.จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ วิศวกร ที่มีใจรักในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการฯด้านการเข้ามาศึกษาปัญหาของชุมชน ตลอดจนความต้องการ แม้กระทั่งร่วมในด้านความคิดในการที่จะนำน้ำลงมาจากห้วยยางมายังหนองแสงจนประสบผลสำเร็จในที่สุด
นายสุรพล เนื่องภักดี
นายสุรพล เนื่องภักดี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 15 ต.เมืองแอม อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมบ้านหนองแสงมีปัญหาในด้านแหล่งน้ำสำหรับใช้อุปโภคบริโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา ด้วยการนำน้ำจากห้วยยางลงมาสู่บึงหนองแสง เพื่อกักเก็บน้ำ จึงได้มีการขุดลอกวางท่อ แต่ก็พบปัญหาในการวางท่อลอดถนน เพื่อให้ท่อลงไปถึงบึงหนองแสงได้ ดังนั้นจึงเรียกช่างซ่อมและช่างเจาะน้ำบาดาลภายในหมู่บ้านเข้ามาร่วมปรึกษาหารือจะใช้วิธีไหนดี ผลสรุปใช้วิธีการเจาะแบบบาดาลแต่ใช้กลับกันคือ การเปลี่ยนการเจาะจากแนวตั้งให้มาเป็นแนวนอน โดยใช้เวลาในการเจาะ 1 วัน 1 คืน จนทะลุระยะทาง 16 เมตร จนสามารถวางท่อลอดถนนไปถึงบึงหนองแสงที่มีพื้นที่ขนาด 56 ไร่ จุน้ำได้ 210,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นผลจนสำเร็จ ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี.