วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024

สุดยอด! รร.พิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น

สุดยอด! รร.พิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

สุดยอด! รร.พิศาลปุณณวิทยา จ.ขอนแก่น

ต้นแบบ PLC โรงเรียนแห่งการเรียนรู้แนวใหม่
เชฟรอน เอ็นจอย ไซเอนซ์ ชู “เครือข่ายพัฒนาวิชาชีพครูโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา” เป็นต้นแบบการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้แนวใหม่เพื่อความยั่งยืน สอดรับนโยบาย ก.ศึกษาฯ เตรียมขยายผลนำไปใช้กับโรงเรียนอื่น มุ่งสู่เป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

“ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของ จ.ขอนแก่น ที่หลายฝ่ายเกี่ยวข้องหยิบยกขึ้นมาหาทางออกร่วมกันในหลายวาระ เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความกว้างใหญ่ประกอบด้วย 26 อำเภอ 198 ตำบล มีสถานศึกษาทุกระดับชั้นรวมกันเกือบ 1,500 แห่ง ทำให้โรงเรียน สถานศึกษาที่มีความพร้อม มักกระจุกอยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอใหญ่ๆ ขณะที่โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ขาดความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ที่จำเป็นในการเรียนการสอน จะกระจายตัวอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ชายขอบห่างไกล ประกอบกับปัจจัยแวดล้อมของเด็กแต่ละคน ส่งผลให้มีปัญหาทางการศึกษาที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ซึ่งยังพบอยู่ในกลุ่มเด็กระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้นอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่มีจุดประสงค์สำคัญ คือ “ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ด้วยการพัฒนาศักยภาพคน โดยเฉพาะกลุ่ม “ครู” แม่พิมพ์สำคัญ จึงนำกระบวนการขับเคลื่อนชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC (Professional Learning Community) ที่สอดรับแนวนโยบายกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาปรับใช้กับ “ครู” ในขอนแก่น
ซึ่งภายหลังโครงการฯ ดำเนินงานต่อเนื่องกว่า 4 ปี พบว่าBest Practice  ด้าน PLC ที่ประสบความสำเร็จและเหมาะเป็นต้นแบบ ในพื้นที่อื่นๆ คือ กระบวนการ PLC ซึ่งเกิดขึ้นที่ “โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา” จ.ขอนแก่น อันเป็น PLC รูปแบบใหม่ เรียกว่า School Improvement Network ซึ่งมีสำนักการศึกษาฯ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นต้นสังกัดในพื้นที่เป็นแกนหลักขับเคลื่อนการพัฒนาชั้นเรียนและโรงเรียนแบบครบวงจรทั้งระบบ ร่วมกับ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูผู้นำ และพี่เลี้ยงวิชาการในเครือข่าย
ในโอกาสนี้เราจะพาท่านไปสัมผัสมุมมองและประสบการณ์ของคณะทำงาน PLC โรงเรียน พิศาลปุณณวิทยา Best Practice ของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต

นายวินัย  รุมฉิมพลี
นายวินัย รุมฉิมพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา กล่าวยืนยันถึง กระบวนการเรียนการสอนแบบ PLC เป็นเรื่องดีมาก หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว เห็นพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กชัดเจนขึ้น โดยโรงเรียนตั้งเป้าจะดำเนินการต่อ คุณครูทุกคนต่างเห็นข้อดี มีการวางแผนร่วมกันจะขยายไปทุกกลุ่มวิชา ขณะเดียวกันก็จะเข้าไปช่วยในส่วนของโรงเรียนเครือข่ายที่อยู่ในสังกัด อบจ. ด้วยกัน เบื้องต้นจะขยายไปยังโรงเรียนขนาดใหญ่ ตามด้วยโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็ก


ปัจจุบันโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา มีการปรับใช้กระบวนการนี้ในแทบทุกห้องของชั้น ม.1 ซึ่งมี 3 ห้อง บางห้องอาจจะไม่ได้ใช้ครบทุกกระบวนการ แต่นำรูปแบบการสอนแบบ PLC ไปปรับใช้ในการสอน นั่นหมายความว่า ณ วันนี้ ครูจะไม่กลับไปใช้การสอนแบบเดิม เพราะได้ถอดบทเรียนแล้วว่าวิธีการสอนแบบ PLC ช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนได้ง่ายมากขึ้น มีพัฒนาการเป็นที่น่าพอใจ
สิ่งที่เรามองเห็นจากการทำ PLC คือ พัฒนาการของเด็กเรา จากเด็กที่ไม่พูดไม่แสดงออก ก็มองว่าเด็กไม่พูดเพราะอะไร เด็กไม่พูดเพราะว่าเด็กอ่านไม่คล่อง หรือ เด็กตีโจทย์ภาษาไทยไม่ได้ เด็กตีโจทย์คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็มาแก้ปัญหา ก็มาดูว่าทำไมเด็กเราอ่านไม่คล่อง ต้นทุนเรามาต่ำ เราก็ได้ไปเชิญผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์ และเป็นอาสาสมัครมาสอนเด็กเราจนนำสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น
กระบวนการ PLC กรณีดังกล่าว เราจะมีครูภาษาไทยร่วมด้วย เป็นการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระ ทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการสื่อสารบางอย่างเช่น การพูดหน้าห้องเรียนที่เด็กต้องมานำเสนอความคิดเห็น ครูภาษาไทยก็จะมีเทคนิคที่ทำให้เด็กกล้าพูดกล้าแสดงออกมากกว่าครูคณิตศาสตร์ เป็นเทคนิคที่มาเสริมกัน ฉะนั้น PLC ก็คือ เราได้วิเคราะห์ทุกด้าน
คุณครูชมพูนุท โนนทนวงษ์ คุณครูผู้สอนคณิตศาสตร์ โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เล่าว่า จากประสบการณ์พบว่าปัญหาของเด็กคือไม่ค่อยกล้าแสดงออก เพราะเขารู้สึกว่า เมื่อเขาเขียนอะไรเขาจะผิด จะรู้สึกตลอดว่าไม่กล้าคิดไม่กล้าเขียน แต่ถ้าเราปรับวิธีการให้เขาได้มีส่วนร่วมได้มีการเป็นผู้นำบ้าง มีความรู้สึกว่าในชั้นเรียนเป็นห้องเรียนของเขา เขาก็จะกล้าที่จะพูดกล้าที่จะแสดงออกมากขึ้น


“ในห้องเรียน PLC จากเด็กที่ไม่กล้าเขียนเลยใช้ดินสอจางๆ เขาก็จะเริ่มเขียน เขาอาจจะเขียนไม่ถูก แต่เริ่มที่จะลงมือเขียน กระบวนการก็จะค่อยๆ หลอมเขา จากการเขียนก็จะเริ่มการพูดเพราะกระบวนการไม่ใช่เพียงแค่เราจะนำเฉพาะเด็กที่เก่งอย่างเดียวมาเป็นผู้นำแต่ในบางคาบเราจะให้เด็กที่อ่อนสุดเป็นผู้นำด้วย พอรู้สึกว่าเขาทำได้มันก็จะเกิดการเรียนรู้มากขึ้นและกล้าที่จะพูดกล้าที่จะทำมากกว่าเดิม” คุณครูชมพูนุทกล่าวและบอกอีกว่า
PLC มันคือการพัฒนาต่อยอดของคุณครูไปโฟกัสที่ผู้เรียนรายบุคคล PLC ของเราไม่ใช่แค่พัฒนา ทั้งห้องเรียน เราจะเลือกพัฒนาผู้เรียนรายบุคคลด้วย สิ่งสำคัญคือ ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการของกิจกรรมนั้น ทางโรงเรียนได้เริ่มใช้ PLC กับห้องเรียนที่ไม่ใช่ห้องเก่ง แต่เป็นห้องที่มีความหลากหลาย มีทั้งเด็กเรียนเก่ง เรียนปานกลางและนักเรียนที่เรียนช้า
ดังนั้นในกระบวนการนี้จะกระตุ้นให้นักเรียนกล้าที่จะแสดงออก กล้าพูด กล้าเขียน ซึ่งดูเหมือนเป็นประเด็นเล็กแต่เป็นการทำให้เด็กมีพัฒนาการ เด็กอาจจะไปแข่งกับห้องที่เก่งไม่ได้ แต่มีพัฒนาการและส่งผลในอนาคต ครูผู้สอนมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนานักเรียนแต่ละกลุ่มแต่ละคนและเดินไปตามแผนที่วางไว้ กระบวนการพัฒนาก็จะขับเคลื่อนไปตามขั้นตามตอน
ขณะที่คุณครูปวีณา โพธิ์ศรี ครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์เช่นกัน บอกว่า ทางโรงเรียนเราโชคดีที่ทางโครงการ Chevron Enjoy Science แนะนำกิจกรรมที่ใช้ในการเปิดใจเปิดความกล้าให้กับนักเรียน ม.1 ได้นำเครื่องมือที่เรียกว่า “คานิยามะ” ซึ่งเป็นแบบฝึกคณิตศาสตร์นำมาใช้ที่โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เป็นที่แรก เป็นเกมเพื่อดึงเด็กเข้ามา โดยจะเริ่มจากง่ายไปยาก พอเริ่มให้เด็กทำเมื่อเขาทำได้ก็จะมีความท้าทายและอยากที่จะทำ กล้าเปิดใจถามคุณครูว่าทำยังไงต่อไป

ดร.วรรณภา  สมตา
ด้าน ดร.วรรณภา สมตา ศึกษานิเทศก์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ภารกิจตามโครงการดังกล่าวหน่วยศึกษานิเทศก์จะทำหน้าที่ดูแลการขับเคลื่อนงานวิชาการของโรงเรียน ซึ่งเป็นบทบาทที่ทำอยู่แล้ว เมื่อโครงการ Chevron Enjoy Science เข้ามาทำการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบคุณภาพวิชาการ โดยเลือก โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา เป็น 1 โรงเรียนในโครงการฯ ในฐานะศึกษานิเทศก์ก็เข้ามาทำงานร่วมกับ ท่านผู้บริหารและคุณครูโรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของการทำ PLC
คำว่าต้นทางก็คือตั้งแต่โรงเรียนกำหนดแผนงาน ตัวศึกษานิเทศก์จะสื่อสารตั้งแต่ข้างบนต้นสังกัดคือ อบจ.ขอนแก่น แล้วก็โรงเรียนเชื่อมประสานกัน และย่อยลงมาเป็นสำนักการศึกษา ต่อมาจึงเป็นหน่วยศึกษานิเทศก์ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา โดยบทบาทของหน่วยศึกษานิเทศก์ คือการแนะนำช่วยเหลือ ไม่ใช่ประเมินอย่างเดียว ซึ่งการแนะนำช่วยเหลือก็คือ การเข้าไปร่วมทำงานพร้อมกับคุณครูแล้วก็ร่วมพัฒนาไปพร้อมกับคุณครู
ดร.วรรณภา กล่าวย้ำว่า การทำ PLC ความยากไม่ได้อยู่ที่ประเด็นความร่วมมือของผู้บริหารหรือครู แต่ยากตรงที่จะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นและเห็นผลได้จริง และ หัวใจของ PLC คือ การ Sharing แต่ก่อนที่จะแชร์ได้ ก็ต้องเริ่มที่เปิดใจก่อนด้วย เพราะว่าปัจจัยเริ่มต้นคือต้องเปิดใจก่อน เมื่อเปิดใจแล้วการแชร์ จึงจะเกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างครูที่โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยาก็คือ ท่านผู้บริหารได้เปิดใจและเมื่อตั้งเป้าหมายร่วมกันแล้วว่าจะทำโครงการนี้ ทุกคนก็เปิดใจที่จะเรียนรู้พัฒนาไปพร้อมๆ กัน จนทำให้บรรลุเป้าหมายตามกระบวนการทำ PLC ที่ทางโครงการ Chevron Enjoy Science เข้ามาสนับสนุน

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads