วันศุกร์ 19 เมษายน 2024

‘เขื่อนอุบลรัตน์’วิกฤติหนัก น้ำใช้ใกล้หมด

‘เขื่อนอุบลรัตน์’วิกฤติหนัก น้ำใช้ใกล้หมด
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

‘เขื่อนอุบลรัตน์’วิกฤติหนัก น้ำใช้ใกล้หมด

         เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 นายศักดิ์ศิริ  อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กรมชลประทาน เปิดเผยว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 จนถึงปัจจุบัน มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์สะสมเพียง 371 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าระดับน้ำไหลเข้าต่ำสุดเมื่อปี 2536 ซึ่งมีน้ำไหลเข้าอ่าง 567 ล้าน ลบ.ม. และปีนี้มีน้ำไหลเข้าอ่างน้อยที่สุดในรอบ 53 ปี ตั้งแต่เริ่มสร้างเขื่อน ทำให้ปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 631 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ วันละ 0.3 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยมาก ทางสำนักงานชลประทานที่ 6 จึงเชิญ กฟผ.เขื่อนอุบลรัตน์ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3  สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10  สนง.ประมงจังหวัดขอนแก่น  สนง.เกษตรจังหวัดขอนแก่น ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มผู้ใช้น้ำ มาหารือและรับทราบสถานการณ์น้ำ พร้อมวางมาตรการบริหารจัดการน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ร่วมกัน


จากการประเมินแผนความต้องการใช้น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ปลายฤดูฝนปี 62 และฤดูแล้งปี 62/63 พบว่ามีความต้องการใช้น้ำทั้งการอุปโภค บริโภค รักษาระบบนิเวศ การประปา และอุตสาหกรรม ประมาณ 189 ล้าน ลบ.ม. แต่เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำต้นทุนที่ใช้การได้อยู่เพียง 50 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น คาดว่าจะเพียงพอเฉพาะการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศเท่านั้น
สำนักงานชลประทานที่ 6 โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จึงได้ประกาศแจ้งกำหนดการหยุดส่งน้ำเพื่อการปลูกพืชฤดูฝนปี 2562 และสถานการณ์น้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2562/63 เพื่อแจ้งให้ประชาชนและเกษตรกรได้รับทราบถึงสถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยจะส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศตลอดลำน้ำพอง และแม่น้ำชีถึงเขื่อนระบายน้ำวังยาง จังหวัดมหาสารคาม ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งปี 62/63

นายศักดิ์ศิริ  ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ว่า ได้แจ้งให้ทุกภาคส่วนสำรวจความต้องการใช้น้ำดิบเพื่อผลิตประปาหมู่บ้าน และแหล่งน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค เพื่อการบริหารจัดการแหล่งน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ภาคการเกษตรได้ขอความร่วมมือให้เกษตรกรสำรองน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติและปลูกพืชใช้น้ำน้อยตลอดสองฝั่งลำน้ำพองและแม่น้ำชี

ขณะที่ด้านการประมงได้ประสานประมงจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 10 เฝ้าระวังและติดตามคุณภาพน้ำลำน้ำพองและแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอจะระบายไปเจือจาง อาจจะทำให้คุณภาพน้ำลำน้ำพองต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง
ส่วนภาคอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือให้วางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัดและจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ รวมถึงขอความร่วมมือจากท้องถิ่นให้เก็บน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำขนาดเล็กให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเขื่อนอุบลรัตน์ จำเป็นต้องสำรองไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งมีความสำคัญมากที่สุด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำประหยัด ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคไปจนถึงฤดูแล้งหน้า.

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads