วันศุกร์ 19 เมษายน 2024

มข.อบรมครูอีสานลดความเหลื่อมล้ำด้านความรู้

มข.อบรมครูอีสานลดความเหลื่อมล้ำด้านความรู้
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

มข.อบรมครูอีสานลดความเหลื่อมล้ำด้านความรู้

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน มข.อบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครู ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน ลดความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบท กว่า35 โรงเรียนเข้าร่วมการอบรมนำความรู้ต่อยอดการสอน


เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 4 ม.ค.ที่อาคารอเนกประสงค์ ชั้น 3 รร.สาธิตมอดินแดง ม.ขอนแก่น ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.ขอนแก่น เป็นประธานเปิดการ อบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครู ด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study)และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่องสนับสนุนโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมี รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาม.ขอนแก่น รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน พร้อมด้วยผู้บริหารมหาลัยขอนแก่น ผู้บริหารสถานศึกษา ผอ.เขต บุคลากร เข้าร่วมรวมประมาณ 300 คน
ร่วมรับการอบรมในครั้งนี้

ศ.ดร.มนต์ชัย   ดวงจินดา

   ศ.ดร.มนต์ชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.ขอนแก่น กล่าวว่าจากการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาวิชาชีพของท่าน ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2562 มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับหนึ่งของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างผลกระทบต่อมวลมนุษยศาสตร์สูงเป็นอันดับหนึ่งตามพันธะ Sustainable Development Goals ของสหประชาชาติ โดยได้คะแนนสูงสุดด้านการส่งเสริมการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียมและตลอดชีพ ส่งเสริมความมีสุขภาพดีแก่ประชาชนทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ทั้งในและต่างประเทศ และผสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนทั่วโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


   ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวด้วยว่าการจัดกิจกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ นับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญของสถาบันฯ ที่จะส่งเสริมให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการจัดการการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมให้เกิดการผสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามพันธะ SDGs อย่างแท้จริง นอกจากนั้น กิจกรรมที่จัดในวันนี้ ก็จะช่วยให้คุณครูทุกท่าน มีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน และ วิธีการแบบเปิด ซึ่งเป็นนวัตกรรมหลักของสถาบันฯ ได้ร่วมสังเกตชั้นเรียนที่ใช้นวัตกรรม ได้เห็นว่า ชั้นเรียนที่เน้นให้นักเรียนเกิดทักษะในศตวรรษที่ 21 และสามารถช่วยยกระดับคุณภาพของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นอย่างไร และเพื่อให้ได้ชั้นเรียนแบบนั้น คุณครูต้องใช้นวัตกรรมอย่างไร

รศ.ดร.ไมตรี  อินทร์ประสิทธิ์

  ด้านรศ.ดร.ไมตรี รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาม.ขอนแก่น รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน กล่าวว่ากิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับคุณครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน และวิธีการแบบเปิดเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ในวันนี้มาจากการที่
สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2545 เมื่อกลุ่มนักวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษาได้เริ่มดำเนินงานวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษา และได้เริ่มต้นพัฒนานวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียน และ วิธีการแบบเปิด ภายใต้ความร่วมมือระดับ นานาชาติกับมหาวิทยาลัยทสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี 2546 ได้ขยายผลงานวิจัยเพื่อรับการสนับสนุนจากคณะทำงานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเอเปค และต่อมาในปี 2547 คณะศึกษาศาสตร์ได้สนับสนุนให้กลุ่มวิจัยด้านคณิตศาสตรศึกษา จัดตั้งเป็นศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา ของคณะศึกษาศาสตร์ และเมื่อปี 2557-2561 ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการพัฒนาการคิดขั้นสูงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในโครงการ “การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขและการศึกษาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม”


  รศ.ดร.ไมตรี กล่าวอีกว่าดังนั้นจากประวัติการทำงานของสถาบันฯ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษามาโดยตลอด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจึงได้มอบหมายให้สถาบันฯ ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาต่อเนื่อง ภายใต้โครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการในโรงเรียนขนาดกลางจำนวน 180 โรงเรียน 18 จังหวัด ทั่วประเทศ มีระยะเวลาในการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงเดือนสิงหาคม 2564


ในการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด รวมทั้งแนวทางการดำเนินการของโครงการ โดยผู้เข้าอบรม เป็น ผู้บริหารโรงเรียน หัวหน้าวิชาการ และศึกษานิเทศก์ จำนวน 180 คน
จากโรงเรียนในโครงการ 180 โรงเรียน และ 60 โรงเรียนในปี 2562 ซึ่งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ 18 จังหวัดทุกภาคของประเทศไทย ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก ขอนแก่น นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานพระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และปัตตานี
   โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เป็นการจัดการอบรมในพื้นที่ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ส่วนการจัดการอบรมในวันนี้ เป็นการจัดการอบรมให้แก่คุณครูในจังหวัดขอนแก่นจำนวน 22 โรงเป็นหลัก และมีคุณครูจาก พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี และศรีสะเกษ มาร่วมเรียนรู้ด้วยอีก 3 โรง กิจกรรมในการอบรมเชิงปฏิบัติการใช้เวลาวันครึ่ง คือวันนี้และวันพรุ่งนี้ กิจกรรมวันนี้ ในช่วงเช้า เป็นการบรรยายเรื่อง “การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางเคียวไซเคงคิวในการใช้การศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิดเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง” โดยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนช่วงบ่าย เป็นการปฎิบัติการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ส่วนในวันพรุ่งนี้ เป็นกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด นักเรียนเป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 ของโรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ จังหวัดขอนแก่น คุณครูผู้สอนคือนักศึกษาครูของสาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา จากนั้นเป็นการสะท้อนผลชั้นเรียน สรุปกิจกรรม และพิธีมอบหนังสือเรียน สื่อและอุปกรณ์การเรียนมูลค่าโรงเรียนละ 50,000.- บาท

นายไวยากรณ์ ยะนะโชติ

นายไวยากรณ์ ยะนะโชติ ผอ.รร.บ้านบึงเนียมบึงใคร่นุ่นท่าหิน สังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1 หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ กล่าวว่าการขจัดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาของประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านความรู้ระหว่างนักเรียนในเมืองกับนักเรียนในชนบท ที่ต่างกันเกือบ 2 ปี การศึกษา สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพหรือมาตรฐานของสถานศึกษา รวมถึงคุณภาพและประสิทธิภาพครู ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนโดยตรง ซึ่งทางสพฐ. และ กสศ. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาครูและโรงเรียนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง (Teachers & School Quality Program : TSQP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาขนาดกลางสังกัด สพฐ. ในชนบทที่มีเด็กและเยาวชนซึ่งขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส และผู้ด้อยโอกาสอยู่หนาแน่น ให้เป็นโรงเรียนที่สามารถพัฒนาคุณภาพต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ หรือ Whole School Approach ทั้งด้านการบริหารจัดการโรงเรียน และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ระดับชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ขณะที่นักเรียนยากจนด้อยโอกาสได้รับการดูแลอย่างเต็มศักยภาพ โดยครูจะมีความสามารถในการประเมินและช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายบุคคล ที่ผ่าน ทางโรงเรียนฯได้เข้าร่วม กับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสําหรับอาเซียน มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เป็นผลให้ทางโรงเรียนบ้านบึงเนียมบึงใคร่นุ่นท่าหิน สังกัด สพป.ขอนแก่น เขต 1 นักเรียนสามารถสอบ o-net วิชาคณิตศาสตร์ได้เต็ม 100 % จำนวน 1 คนในปีการศึกษาที่ผ่านมานับว่าเป็นผลสำเร็จอย่างหนึ่งในการเข้าร่วมกับทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นและผลสัมฤทธิ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง.

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads