วันศุกร์ 29 มีนาคม 2024

‘ครม’ และ ‘รัฐสภา’ ไฟเขียว ‘ธรรมนูญฯ สุขภาพ ฉบับ 3’พร้อมใช้เป็น ‘แผนที่นำทาง’ สุขภาพไทย สร้างความเป็นธรรม – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

‘ครม’ และ ‘รัฐสภา’ ไฟเขียว ‘ธรรมนูญฯ สุขภาพ ฉบับ 3’พร้อมใช้เป็น ‘แผนที่นำทาง’ สุขภาพไทย สร้างความเป็นธรรม – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

‘ครม’ และ ‘รัฐสภา’ ไฟเขียว ‘ธรรมนูญฯ สุขภาพ ฉบับ 3’พร้อมใช้เป็น ‘แผนที่นำทาง’ สุขภาพไทย สร้างความเป็นธรรม – ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

“ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ผ่านมติ ครม.-วุฒิสภา-สภาผู้แทนราษฎร เตรียมประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ใช้เป็นแผนที่นำทาง-เข็มทิศนโยบายสุขภาพของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด มุ่งสร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565” และวันที่ 24 ม.ค. 2566 เห็นชอบเอกสารประกอบธรรมนูญฯ เพิ่มเติมตามข้อเสนอแนะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วนั้น ล่าสุดที่ประชุมวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับทราบไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2566 และ 9 ก.พ. 2566 ตามลำดับ ขั้นตอนหลังจากนี้จะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

   สำหรับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นั้น เปรียบได้กับ “แผนที่นำทาง” หรือ เข็มทิศนโยบายสุขภาพของประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรธุรกิจ เอกชน ประชาชน เยาวชน-คนรุ่นถัดไป โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (อว.) เป็นประธานยกร่าง ภายใต้แนวคิด “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และช่วยพลิกฟื้นประเทศไทย” โดยกำหนดให้มีการทบทวนทุก 5 ปี เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลง

นายอนุทิน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์และการดำเนินการด้านสุขภาพของประเทศไทย ในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ จะมีทิศทางที่มุ่งให้เกิด “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ทั้งในระบบบริการสุขภาพ (healthcare system) และระบบการสร้างเสริมสุขภาพและการจัดการปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health: SDH) โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเปราะบาง รวมไปถึงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและกลไกทางสังคมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่สุขภาวะของประชาชนคนไทยและความเป็นธรรมด้านสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ตามจุดมุ่งหมายสูงสุดของธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 นี้

 

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การนำเสนอรายงานธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ต่อที่ประชุมวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร นอกจากมีมติรับทราบแล้วยังได้ให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามธรรมนูญฯ ที่เป็นประโยชน์อย่างมาก โดยธรรมนูญฯ ไม่ต่างไปจาก “ร่ม” ที่แสดงให้เห็นถึงเป้าหมาย นโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนนำเอาแนวคิดและทิศทางไปใช้เป็นกรอบในการทำแผนดำเนินงานและขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ มีทิศทางร่วมกันมากขึ้น

“เนื้อหาสาระสำคัญของธรรมนูญฯ ประกอบด้วย 3 ส่วนและภาคผนวก ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง สถานการณ์และปัจจัยที่มีผลต่อระบบสุขภาพในระยะ 5 ปี เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โรคและปัญหาสุขภาพ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ รวมถึงระบบการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ ส่วนที่สอง กรอบแนวคิด ปรัชญา และเป้าหมายร่วมของระบบสุขภาพที่มุ่งให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมีการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล ส่วนที่สามมาตรการสำคัญสู่เป้าหมายระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ ซึ่งมีด้วยกัน 23 มาตรการ นอกจากนี้ยังมีภาคผนวก ที่ระบุรายละเอียดของสถานการณ์ เป้าหมาย จุดคานงัดและแนวทางการขับเคลื่อนในแต่ละสาระสำคัญรายหมวดของระบบสุขภาพ เช่น การสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การบริการสาธารณสุขและการควบคุมคุณภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น สำหรับใช้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ต่อไป” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ประธานคณะกรรมการสนับสนุน และติดตามการขับเคลื่อนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมโลกถูกคุกคามโดยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของบริบททางสังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม รวมถึงระบบสุขภาพของแต่ละประเทศ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือไม่เป็นธรรมด้านสุขภาพเด่นชัดมากขึ้น ดังนั้นการสร้างความแข็งแกร่งของระบบสุขภาพไทยในระยะ 5 ปี ต่อจากนี้ตามธรรมนูญฯ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของไทย เพื่อออกแบบกลไกให้สนับสนุนการฟื้นคืน ตอบสนอง และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่พึงประสงค์ คือ “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม”

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนธรรมนูญฯ จะเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยหลังจากที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แม้กฎหมายจะกำหนดว่าจะมีผลผูกพันธ์ทุกหน่วยงานของรัฐและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เนื่องจากแนวคิดและกระบวนการของธรรมนูญฯ ถือเป็น soft power ที่เน้นการมีส่วนร่วมและเห็นชอบของทุกฝ่าย จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจและผลักดันให้นำเนื้อหาภายในธรรมนูญฯ ไปปรับใช้ต่อไป

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads