ผ่าทางตันในวิกฤตการณ์อุทกภัย สานพลัง ‘ชุมชน’ หนุนเสริมมาตรการรัฐ สร้างความเข้มแข็งกลไกบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม
เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2567 และได้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และสุโขทัย นั้น สะท้อนถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย ที่กลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทยต้องทำงานอย่างเป็นระบบทั้งส่วนกลางและพื้นที่
และคล้ายคลึงกับวิกฤตการณ์อื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าปฏิบัติการของภาครัฐอาจไม่เท่าทัน หรือไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นการสร้างความเข้มแข็งกลไกบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยอาศัยกระบวนการการมีส่วนร่วมระดับชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำให้เกิดขึ้น
ดอกผลจากเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 อย่าง ‘มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ถือเป็นหนึ่งในรูปธรรมที่สามารถหยิบยกขึ้นมาใช้ในสถานการณ์นี้ได้ทันที โดยเฉพาะมติ 16.2 การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ (Strengthening the mechanisms of Water Resources Management (WRM) at local levels) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ผ่านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก ผ่านกลไกที่มีอยู่ในระดับพื้นที่ และหลายภาคส่วนร่วมกัน
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อธิบายว่า มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติที่ 16.2 การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่นั้น ได้รับการพัฒนาและได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานภาคีองค์กรที่ทำงานด้านน้ำอย่างเป็นฉันทมติ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เมื่อปี 2566
ภายในมติดังกล่าวมี 3 แนวทางสำคัญ ประกอบด้วย 1. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการจัดการน้ำในระดับพื้นที่ ที่มุ่งเน้นการพัฒนากลไกเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ และภาคีในระดับพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์อุทกภัย การประสานงาน และการตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่
2. การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการจัดการน้ำ ที่สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ ฐานข้อมูล และระบบสารสนเทศ เพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์ เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนภัยได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที นอกจากนี้ ยังช่วยในการวางแผนป้องกันและบริหารจัดการน้ำในระยะยาว โดยอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
3. การส่งเสริมการจัดทำผังน้ำและการป้องกันภัยพิบัติ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการจัดทำผังน้ำและการป้องกันภัยพิบัติจากน้ำ โดยเน้นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ และท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยในการวางแผนรับมือกับอุทกภัยในระยะยาว รวมถึงการกำหนดพื้นที่รับน้ำ แนวทางการระบายน้ำ และการป้องกันพื้นที่สำคัญ อันจะช่วยลดความเสียหายจากอุทกภัยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ทั้ง 3 ประเด็นนี้คือแนวทางที่สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบัน และเพื่อรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดยสิ่งที่เราอยากเสนอเพิ่มเติมในสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้ คืออยากให้หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น ร่วมกันสนับสนุนการจัดทำแผนเผชิญเหตุ และการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัยทั่วประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในวิธีการและเครื่องมือในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง รวมถึง เด็ก” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการบริหารจัดน้ำในปีนี้ค่อนข้างดีกว่าในหลายครั้งที่ผ่านมา และอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันเริ่มมีการวางแผนที่เป็นระบบ มีการหารือเพิ่มมากขึ้นในคณะกรรมการลุ่มน้ำ มีระบบการแจ้งเตือนที่เป็นลำดับว่ามวลน้ำขนาดไหน ถึงจุดไหน ใครรับผิดชอบ เป็นต้น ตลอดจนขั้นตอนการจัดการ พื้นที่พักน้ำ ปล่อยน้ำเข้าทุ่งไหนก่อน ทุ่งไหนหลัง ที่มีความชัดเจนมากขึ้นจากการเตรียมการร่วมกันมาหลายปี
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจยังมีข้อติดขัดในบางพื้นที่ ในแง่ความล่าช้าของการแจ้งเตือนจากระดับจังหวัด ลงไปถึงอำเภอ ตำบล จนถึงประชาชนในพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ของผู้บริหารท้องถิ่น อีกส่วนหนึ่งคือขั้นตอนการทำงาน ที่เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้นแล้วอาจลืมไปว่าต้องทำอะไรก่อน-หลัง เพราะส่วนใหญ่อาจไม่มีการซักซ้อม จึงเป็นบทเรียนได้ถึงเหตุการณ์ในอนาคต ที่ควรต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบก่อนจะเตรียมการรับมือในขั้นต่อๆ ไป
“ตามมติสมัชชาสุขภาพฯ เราหนุนเสริมให้เกิดการจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติ และในภาวะวิกฤต เพราะการมีแผนในเรื่องของการจัดสรรน้ำที่ดี ก็มีส่วนที่ช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ลงไปได้ด้วย เมื่อเรารู้ว่าน้ำมาแล้ว จะผันไปตรงไหน จะเก็บไว้ตรงไหน หากเกิดภาวะแล้งจะใช้อย่างไร แต่ในการเผชิญภาวะวิกฤตนั้นเป็นสิ่งที่แต่ละท้องถิ่นจำเป็นต้องไปต่อยอดแผนการของแต่ละแห่ง ด้วยข้อมูลและสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป” รศ.ดร.บัญชา กล่าว
รศ.ดร.บัญชา กล่าวอีกว่า หลังจากที่ภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันมีมติสมัชชาสุขภาพฯ เมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันได้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้เกิดการยกระดับแผนการจัดการน้ำระดับพื้นที่ เข้าไปสู่แผนในระดับจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการ ที่จะช่วยทำให้แผนเหล่านี้ได้รับการตอบสนอง ได้รับงบประมาณ และนำไปสู่การขับเคลื่อนที่เกิดเป็นรูปธรรมได้ต่อไป
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 10 กล่าวว่า เราจะเห็นได้ว่าสถานการณ์น้ำท่วม-น้ำแล้ง จะเกิดบ่อยขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนประเด็นปัจจัยจากโครงการพัฒนาต่างๆ ซึ่ง จ.อุบลราชธานี ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายครั้ง แต่ก็ได้มีการใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ ในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
“บทบาทการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ต้องทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันก่อนว่าในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มันเป็นหน้าที่ร่วมกัน เพราะไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวที่จะแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ แต่ต้องพัฒนาร่วมกันตั้งแต่กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ รวมถึงภาคประชาชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมบูรณาการ ผ่านการสนับสนุนของกลไกนโยบายสาธารณะที่จะช่วยให้การบริหารจัดการน้ำเกิดความเหมาะสมและรอบด้าน” นพ.นิรันดร์ กล่าว
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า นอกจากการเผชิญเหตุแล้ว เรื่องสำคัญที่ตามมาคือการฟื้นฟู ชดเชย เยียวยา การดูแลผู้ได้รับผลกระทบภายหลังสถานการณ์จบลง ซึ่งเช่นเดียวกันว่าเรื่องนี้ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนมาช่วยกันวางระบบตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น มีผู้ได้รับผลกระทบในมิติใดบ้าง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน เงินทอง อาคาร บ้านเรือน อาชีพ ไปจนถึงสุขภาพ ที่ไม่ใช่เพียงการเข้ามาแจกของช่วยเหลือในช่วงน้ำท่วมเท่านั้น และหลังจากนั้นแล้วเราจะมีแนวทางป้องกันอย่างไรไม่ให้เกิดการท่วมต่อ จะมีการจัดการโครงสร้าง มีพื้นที่รับน้ำเพิ่มมากขึ้น หรือจะเข้าไปจัดการกับโครงการพัฒนาที่กีดขวางทางน้ำได้หรือไม่ เป็นต้น