“KKBS มข.”เปิดตัวทีมผู้บริหารชุดใหม่ หนุน 5 ยุทธศาสตร์สู่องค์กรระดับสากล พร้อมมุ่งผลิตบัณฑิต ตอบโจทย์ธุรกิจ อุตสาหกรรมในยุคดิจิทัล
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKBS) สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านบริหารธุรกิจและการบัญชี เปิดตัวทีมผู้บริหารชุดวาระ พ.ศ.2567 – 2571 ภายใต้วิสัยทัศน์ “KKBS is the premier business school for industrial integration aiming to inspire innovators and global citizens” โดยทีมผู้บริหารประกอบไปด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน คณบดี, ดร.นริสรา พาลุสุข รองคณบดีฝ่ายบริหารและภาพลักษณ์องค์กร, ดร.ธนิดา อุทยาพงษ์ รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และการคลัง, ดร.วิตติกา ทางชั้น รองคณบดีฝ่ายวิชาการ, ดร.พงศ์พันธุ์ ศรัทธาทิพย์ รองคณบดีฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์และความยั่งยืน, ดร.ชิชาญา เล่ห์รักษา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์, ดร.ศุภรักษ์ จันทร์จรัสจิตต์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพการศึกษาและดิจิทัล, ผศ.วิไลพร ไพศาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจกรรมเสริมหลักสูตร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี กล่าวว่า แนวทางในการบริหารงานของ KKBS จะเป็นการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในการเสริมสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรที่มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของตลาด อีกทั้งความต้องการในการเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภายนอกเพื่อเพิ่มโอกาสในการฝึกงานและการวิจัยร่วมกัน รวมถึงความต้องการในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน โดยการพัฒนาและนำเทคโนโลยี e-learning มาใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้มีทักษะและความรู้ที่ทันสมัย และการสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อเพิ่มความเป็นเลิศในด้านการศึกษาและการวิจัย
สำหรับยุทธศาสตร์และแนวนโยบายการบริหารงานของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์และแนวนโยบายการบริหารงาน แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ ดังนี้ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาความสามารถของคณาจารย์ (Enhance Professorial Capabilities) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อความต้องการในศตวรรษที่ 21 ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ความเป็นเลิศทางวิชาการระดับสากลและมาตรฐานความเชี่ยวชาญ (Global Academic Excellence and Proficiency Standards) โดยมีเป้าประสงค์เพื่อขอการรับรองจาก AACSB และส่งเสริมโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยชั้นนําทั่วโลก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาให้พร้อมต่อการทำงานในระดับสากล ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 การขยายการเข้าถึงการศึกษาระดับสากล (Expanding Global Education Outreach) พัฒนารูปแบบการศึกษาออนไลน์หลักสูตร Degree และ Non-Degree แก่นักศึกษาไทยและนานาชาติ รวมถึงการดำเนินการ International Active Recruitment ในหลายประเทศเพื่อดึงดูดนักศึกษานานาชาติ รวมถึงการสร้างและใช้เครือข่ายศิษย์เก่าเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทั้งระดับในประเทศและระดับนานาชาติ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 การเชื่อมโยงระหว่างวิชาการและอุตสาหกรรมเพื่อความสําเร็จในอนาคต (Bridging Academia and Industry for Future Success) สร้างความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและนักวิจัยทางวิชาการ รวมถึงการสร้างพื้นที่สำหรับนวัตกรรมและการประกอบการที่นักศึกษาและคณาจารย์สามารถพัฒนาและสร้างต้นแบบแนวคิดใหม่ๆ โดยได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรม และ ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างรายได้เชิงนวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ (Innovative Revenue Generation Initiatives)การต่อยอดจากโครงการวิจัยและพัฒนาที่สามารถทำเงินได้ โดยเริ่มจากการพัฒนากรอบการทำงานเพื่อเปลี่ยนผลการวิจัยให้เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถทำการตลาดได้ และนอกจากนั้นเพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากหน่วยธุรกิจเดิมหรือวิสาหกิจโรงแรมบายสิตาให้คุ้มค่าที่สุดทั้งทางด้านรายได้และการเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัย
“ในฐานะที่ได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ผมขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มอบความไว้วางใจและสนับสนุนการทำงานของผมมาโดยตลอด ผมมุ่งมั่นที่จะนำพาคณะของเราไปสู่ความสำเร็จและความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและสังคม เราจะมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างคุณภาพการศึกษา การส่งเสริมการวิจัยที่มีคุณภาพ และการพัฒนาทักษะของนักศึกษาและบุคลากรให้ทันสมัยและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล ด้วยความร่วมมือและการทำงานร่วมกันเป็นทีม เราจะสามารถเผชิญกับความท้าทายและโอกาสในอนาคตได้อย่างมั่นใจ การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการเรียนการสอน การสร้างความร่วมมือกับองค์กรภายนอก และการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการ ของตลาด เป็นสิ่งที่เราจะให้ความสำคัญในการดำเนินงาน ผมขอให้ทุกท่านมั่นใจว่า ผมจะทำงานอย่างเต็มที่และมุ่งมั่นในการพัฒนาคณะของเราให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และผมขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเดินทางสู่ความสำเร็จ และความยั่งยืนนี้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์สุทธิ พื้นแสน กล่าวขอบคุณและสร้างความเชื่อมั่นต่อการบริหารงานในคณะฯ