“มข.”ร่วมใจปลูกต้นกาลพฤกษ์ สร้าง Green Campus สู่ KKU Net Zero
มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย และประชาคมโลก จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่นสวยงามและส่งเสริมสุขภาวะแล้ว ยังเป็นการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาโลกร้อน
เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม 2567 ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดโครงการ “ร่วมใจปลูกต้นกาลพฤกษ์ สร้างสุขภาวะ Green Campus สู่ KKU Net Zero ” โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเปิดโครงการและร่วมปลูกป่า รองศาสตราจารย์ ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานโครงการ ทั้งนี้มีผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษา และบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมงานกว่า 500 คน ที่ ลู่วิ่งอุทยานเกษตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการจัดกิจกรรมปลูกป่า 2 ช่วงเวลา คือ เวลา 08.00 น. และ เวลา 17.00 น.
รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล
รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายในการบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย และประชาคมโลก โครงการนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวการปลูกต้นกาลพฤกษ์จำนวน 300 ต้นรอบลู่วิ่งของมหาวิทยาลัย นอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่นสวยงามและส่งเสริมสุขภาวะแล้ว ยังเป็นการช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการบรรเทาปัญหาโลกร้อน
“สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งคือ โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งคณะเกษตรศาสตร์ผู้ริเริ่มโครงการ นักศึกษา บุคลากร นักวิ่ง และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมกิจกรรม แสดงให้เห็นถึงพลังของการมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สีเขียวในมหาวิทยาลัยที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาโลกร้อน”
รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร
ด้าน รศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการสร้างมหาวิทยาลัยสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างความร่มรื่น อันจะเป็นประโยชน์ ต่อการส่งเสริมสุขภาวะของนักศึกษา บุคลากร และประชาชนที่มาใช้บริการ เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ในบรรยากาศอย่างน้อย 3,000 กิโลกรัมต่อปี สนับสนุนเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น สร้างการมีส่วนร่วมและปลูกจิตสำนึกในการร่วมกันพัฒนาและดูแลรักษาสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย รวมถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและโลกร้อนและเพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ สีเขียวเพื่อส่งเสริมสุขภาวะในมหาวิทยาลัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
อย่างไรก็ตามโครงการ “ร่วมใจปลูกป่า พัฒนาแหล่งเรียนรู้ สู่ KKU Net Zero” แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ฝ ช่วงเช้าปลูกต้นยางนา จำนวน 2,000 ต้น ในพื้นที่ 60 ไร่ ณ แปลงหญ้าอาหารสัตว์ คณะเกษตรศาสตร์ และ ช่วงเย็น เป็นการปลูกต้นกาลพฤกษ์จำนวน 300 ต้น รอบลู่วิ่งของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้มีกำหนดปลูกต้นยางนา จำนวน 2,000 ต้น ณ สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรมร้อยเอ็ด (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) อีกครั้ง ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 อีกด้วย.