สช.สานพลังภาคีเครือข่ายสมัชชาฯ กทม.
ปั้นแนวทางเคลื่อนนโยบายสุขภาวะเขตเมือง
ดันธรรมนูญสุขภาพฯ เป็นนวัตกรรมระดับโซนในพื้นที่ กทม.
อนุฯวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชากรุงเทพฯ เชื่อมงานสำนักอนามัย กรุงเทพฯ และศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง วางเป้าหมายยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ สู่เป้าหมายขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพ 50 เขต คาดหวังให้เกิดขึ้นในปี 2570
ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ และศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง จัดประชุมออกแบบแนวทางและกระบวนการจัดสมัชชาสุขภาพระดับโซนสู่การพัฒนามติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร ประธานอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ ห้อง Galleria โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น จตุจักร กรุงเทพมหานคร
นางนทีทิพย์ จึงสมประสงค์
นางนทีทิพย์ จึงสมประสงค์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และ พญ นภัสชล ฐานะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร และนโยบาย/ปฏิบัติงานกรุงเทพมหานครนั้น มีการตั้งเป้าหมายตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คือ 4 ประเด็นที่จะขับเคลื่อน 1.ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพฯ ฉบับ ที่ 1 พ.ศ. 2563 มุ่งให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของการทำนโยบายสาธารณะ 2.ประเด็นการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับภาวะวิกฤต และสุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า มุ่งเน้นเกิดความร่วมมือทุกภาคส่วนให้เป็นแผนการจัดระบบบริการให้ทั่วถึงและเป็นธรรม 3.ประเด็นการสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน มุ่งพัฒนาพื้นที่สาธารณะ 50 เขตสร้างพื้นที่สุขภาวะต้นแบบพร้อมขยายผลให้ครอบคลุมทุกเขต 4.ประเด็นการจัดการหาบเร่แผงลอยและพื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัยภายใต้ความหลากหลาย มุ่งเน้นการจัดการ การค้าริมทางอย่างมีส่วนร่วมบนพื้นที่ปลอดภัยและยกระดับความมั่นคงทางอาชีพ และสุขภาวะของผู้ประกอบอาชีพและความมั่นคงทางอาหารของเมือง
นายเตชิต ชาวบางพรหม
ด้าน นายเตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนสุขภาวะเขตเมือง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นำเสนอข้อมูลสำคัญของยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนสุขภาวะกรุงเทพมหานคร Pillar Model 5 เสาหลักของการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานสุขภาวะเขตเมือง ด้านสช.เองได้กำหนดเรื่องของยุทธศาสตร์ เรื่องงานธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งไปเน้นหนักในเรื่องของโอกาสและความเป็นธรรม ซึ่งด้านสช.มีการกำหนดยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมไว้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. สร้างโอกาสเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม 2.พัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสังคมสุขภาวะอย่างเท่าเทียม 3.ส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือและสร้างนวัตกรรมในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพ ซึ่งใน 5 เสาหลักนั้นมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น เสาของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ที่เป็นเวทีพื้นที่กลางในการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง
ทั้งนี้ ผศ.ดร.ชลธิชา สุพรรณาลัย ศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม สะท้อนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพระดับเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง ว่าได้มีการไปลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากชุมชน และส่งเสริมความรู้ให้ชุมชน อาทิเรื่องการเขียนโครงการ เรื่องขั้นตอนการขอทุนฯ ที่เป็นรูปแบบสื่อคลิปวิดีโอ เรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย พร้อมทั้งพัฒนาช่องทางการติดต่องศูนย์วิชาการสุขภาวะเขตเมือง เพื่อที่ชุมชนจะยังสามารถติดต่อและเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้อย่างสะดวกมากขึ้น.