วันศุกร์, 22 พฤศจิกายน, 2024

HeaderAD
HeaderAD
HeaderAD
“เวที HIA FORUM ถกปัญหา ‘กากอุตสาหกรรม’ หวัง กม.เปิดเผยข้อมูล ‘PRTR’ จุดเปลี่ยนแก้ปัญหา หนุนเสริม ‘CHIA’ ช่วยชุมชนรับมืออันตราย”

“เวที HIA FORUM ถกปัญหา ‘กากอุตสาหกรรม’ หวัง กม.เปิดเผยข้อมูล ‘PRTR’ จุดเปลี่ยนแก้ปัญหา หนุนเสริม ‘CHIA’ ช่วยชุมชนรับมืออันตราย”

HeaderAD
HeaderAD
HeaderAD

“เวที HIA FORUM ถกปัญหา ‘กากอุตสาหกรรม’
หวัง กม.เปิดเผยข้อมูล ‘PRTR’ จุดเปลี่ยนแก้ปัญหา หนุนเสริม ‘CHIA’ ช่วยชุมชนรับมืออันตราย”

เปิดวงเสวนาการจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยกลไก CHIA บนเวที “HIA Forum 2567” วงถกหวังเกิดกฎหมายเปิดเผยข้อมูลสารพิษ “PRTR” ช่วยแก้ไขปัญหามลพิษปนเปื้อนจากการลักลอบทิ้งกากอันตรายทั่วประเทศ พร้อมหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้-เฝ้าระวัง ผ่านการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน สร้างองค์ความรู้ มองทางเลือกการพัฒนา

เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กรมอนามัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดเสวนาหัวข้อ “การจัดการกากอุตสาหกรรมด้วยกลไก CHIA โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน” ภายในกิจกรรมการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA” เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การทำงาน ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า จากบทเรียนในการติดตามปัญหามลพิษอุตสาหกรรมเป็นเวลากว่า 20 ปี พบว่าปัญหาเรื่องของกากอุตสาหกรรมอันตราย ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ใหญ่และสร้างผลกระทบเป็นอย่างมาก แต่อาจยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในช่วงที่ผ่านมา ทว่าในปัจจุบันพัฒนาการของปัญหากลับยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการกระทำผิดโดยทั่วไป กลายมาเป็นรูปแบบของเครือข่ายการก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
   น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า สำหรับกากอุตสาหกรรมอันตราย คือของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่จะมีการปนเปื้อนมลพิษสารเคมี ซึ่งมีความอันตรายทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อม จึงต้องมีวิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม แต่หากดูสถานการณ์การลักลอบทิ้ง จากการรวบรวมข้อมูลสถิติในช่วงปี 2560-2566 เฉพาะกรณีที่เป็นข่าว พบว่ามีมากกว่า 300 กรณีที่เกิดขึ้นกระจายในทั่วประเทศ ซึ่งหลายกรณีได้เกิดการปนเปื้อนของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง ที่หากประเมินแล้วคาดว่าต้องใช้งบประมาณตั้งแต่หลักพันล้านไปจนถึงหมื่นล้านบาท ในการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
“กากอุตสาหกรรมอันตรายเหล่านี้มีทั้งส่วนที่ถูกเผา ถูกฝังลงใต้ดิน ถูกเททิ้งลงแหล่งน้ำ สร้างความเสียหายรุนแรงจากการปนเปื้อนไปถึงระดับชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นจุดยากที่สุดในการที่จะแก้ไข แม้ว่าจะสามารถฟ้องร้องจนศาลตัดสินให้บริษัทต้องจ่ายฟื้นฟูเยียวยา แต่ไม่ว่าผู้ชนะคดีจะเป็นชาวบ้านหรือหน่วยงานรัฐก็ตาม กลับแทบจะไม่เคยได้รับเงินจากผู้กระทำผิดเลย เพราะบริษัทแจ้งล้มละลาย นี่เป็นปัญหาช่องโหว่ที่ใหญ่และจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขในระดับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว
   น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว จึงมีความพยายามในการเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อแก้ช่องโหว่ของปัญหา ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มโทษและเพิ่มอำนาจให้กับหน่วยงาน รวมถึงการผลักดันกฎหมายอย่าง พ.ร.บ.การรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือ กฎหมาย PRTR ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการทำให้แหล่งกำเนิดมลพิษโดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ หรือโรงงานที่ก่อให้เกิดของเสียอันตราย จะต้องรายงานข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสารมลพิษที่ใช้ และเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้
  น.ส.เพ็ญโฉม กล่าวอีกว่า ความสำคัญของกฎหมายดังกล่าวจะทำให้เกิดฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังของประชาชนในพื้นที่ ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถเฝ้าระวัง ร่วมปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของตนเองได้ ควบคู่กับการเสริมทักษะความรู้ หนุนเสริมวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง หรือกระบวนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพระดับชุมชน (CHIA) ที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่น ให้เขาเกิดความอุ่นใจในการมีเครื่องมือ ความรู้ หรือที่ปรึกษา ที่จะสามารถตอบสนองหรือรู้เท่าทันกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้

   ขณะที่ รศ.ดร.โกวิท สุวรรณหงษ์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและนวัตกรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า กากอุตสาหกรรมอันตรายสามารถกลายเป็นสารเคมีที่มีพิษได้ใน 3 ทาง ทั้งรูปแบบของแข็งคือกากของเสีย ของเหลวที่กลายเป็นน้ำเสีย หรือก๊าซที่กลายเป็นอากาศเสีย ซึ่งผลกระทบจะส่งตรงไปสู่สภาพแวดล้อม จากนั้นจึงไปสู่ระบบนิเวศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วจึงตามมาสู่ผลกระทบต่อสุขภาพของคน ที่ซึมซับพิษเหล่านี้ได้ใน 2 แบบ คือได้รับน้อยๆ เป็นเวลานาน กับแบบที่ได้รับปริมาณมากในระยะเวลาสั้น
   รศ.ดร.โกวิท กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจำเป็นจะถูกแก้แบบเป็นองค์รวม โดยเฉพาะความสำคัญของนโยบาย มาตรการ รวมถึงกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง หรือกฎหมาย PRTR ที่จะทำให้เกิดระบบการเปิดเผยข้อมูล ที่สามารถนำไปบูรณาการและประยุกต์ใช้กับเครื่องมือการประเมินผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น HIA หรือ CHIA อันเป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วม สร้างความตระหนัก รับรู้ ช่วยให้เกิดการมองตั้งแต่มิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงสุขภาพได้
“ในระหว่างที่การปรับปรุงกฎหมายอาจเดินหน้าไปได้ช้า สิ่งที่ชุมชนจะช่วยตัวเองได้ก่อนคือการสร้างความรู้ ความตระหนักรู้ หรือ Health Literacy ที่จะเรียนรู้ว่าปัจจัยอะไรส่งผลกระทบกับสุขภาพของเราได้บ้าง หรือที่เรียกว่า Social Determinants of Health ซึ่งเครื่องมืออย่าง CHIA ก็จะมีส่วนช่วยได้ และเราต้องช่วยกันทำให้เกิดความเข้มแข็งกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหากมีหัวใจสำคัญคือเรื่องของระบบข้อมูลเข้ามาเชื่อมโยงประกอบก็เชื่อว่าในอนาคตน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น” รศ.ดร.โกวิท กล่าว

  ด้าน ดร.วิสาข์ สุพรรณไพบูลย์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สถานการณ์กากอุตสาหกรรมอันตรายนั้นมีความรุนแรงเป็นอย่างมาก เป็นปัญหาที่นอกจากจะต้องใช้เงินฟื้นฟูเยียวยาที่สูงมากในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมิติของสุขภาพที่ก่อให้เกิดโรคภัยที่สำคัญอย่างมะเร็ง ซึ่งเราจะเห็นผู้คนป่วยเป็นมะเร็งกันมากขึ้นก็เนื่องมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่สามารถปฏิเสธการพัฒนาอุตสาหกรรมได้ แต่โจทย์คือการกำหนดทิศทางว่าประเทศไทยจะเดินหน้าอุตสาหกรรมอย่างไรให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เป็นต้น
   ดร.วิสาข์ กล่าวว่า สิ่งที่เราได้เห็นจากปัญหามลพิษที่เกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงเกิดความล่าช้าของการแก้ไขปัญหา ซึ่งเราคงไม่สามารถไปโทษโครงการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตามกระแสได้ แต่เราอาจต้องฉุกคิดถึงทิศทางการพัฒนาที่รอบคอบมากขึ้น ว่าจะทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้นได้อย่างไร โดยการทำให้ชุมชนมีบทบาท และนับเอาศักยภาพต้นทุนมนุษย์ หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมมาคิดรวมด้วย เพื่อให้มองการพัฒนาที่ยั่งยืน และชุมชนมีโอกาสเลือกแนวทางพัฒนาของตัวเอง


“CHIA จึงเป็นกระบวนการที่เราอยากเห็นเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนและสังคม เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะดึงเอาชุมชนเข้ามา ทำให้ได้รับรู้ข้อมูลที่สำคัญ และทำให้ชุมชนสามารถร่วมตัดสินใจได้ รวมถึงสามารถเฝ้าระวังปัญหาและนำไปสู่ทิศทางของการแก้ไขและพัฒนาร่วมกันต่อไปในอนาคต” ดร.วิสาข์ กล่าว.

3bb-ad
3bb-ad

About The Author

Related posts

HeaderAD
HeaderAD
HeaderAD