วันศุกร์ 19 เมษายน 2024

“มข.”พุ่งเป้าโครงการวิจัยด้านแมลง ขับเคลื่อนไทยแหล่งโปรตีนโลก

“มข.”พุ่งเป้าโครงการวิจัยด้านแมลง ขับเคลื่อนไทยแหล่งโปรตีนโลก
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

“มข.”พุ่งเป้าโครงการวิจัยด้านแมลง ขับเคลื่อนไทยแหล่งโปรตีนโลก


ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสารสิน ชั้น 2 อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ร่วมต้อนรับ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องในโอกาสเดินทางมาตรวจราชการ งานตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2563 โอกาสนี้ได้มีการประชุมขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) ร่วมกับกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ 4 จังหวัด ได้แก่กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด โดยมีคณะกรรมการบริหารศูนย์ AIC เข้าร่วมกว่า 100 คน


นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวถึงข้อมูลด้านเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่นว่า โดยระบุถึง รายได้ต่อหัวประชากร 122,950 บาท ต่อคน ต่อปี จัดอยู่ในอันดับที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอันดับที่ 32 ของประเทศ มีจุดแข็งที่สำคัญ คือ การมีที่ตั้งที่ได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ เป็นจุดกึ่งกลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นศูนย์กลางการบริหาร และบริการภาครัฐ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ ASEAN – EWEC ปัจจุบันได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนา เป็น มหานครน่าอยู่ มุ่งสู่เมืองนวัตกรรม ศูนย์กลางเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้มีการดำเนินโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อพัฒนาจังหวัดขอนแก่น เช่น การพัฒนาจังหวัดขอนแก่นสู่เมืองอัจฉริยะ Smart City และ MICE City การพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ หรือ เกษตรอินทรีย์ เพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer มีการนำเทคโนโลยี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวิธีการปฏิบัติที่ดีเป็นไปตามหลักสากลมาปรับใช้เพื่อให้เกษตรกรมีความภาคภูมิใจในความเป็นเกษตรกรและสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล

ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข. กล่าวว่า ในนามของประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center : AIC) จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ รู้สึกยินดีและขอต้อนรับที่ท่านได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจในการติดตามงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และร่วมประชุมขับเคลื่อนศูนย์ AIC ของพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 12 ณ จังหวัดขอนแก่น


รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่าเมื่อคราวที่ท่านอลงกรณ์ได้มาเยี่ยมมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการมาเปิดงานเกษตรภาคอีสาน ในเดือนมกราคมปี 2562 ในวันนั้นท่านได้พูดถึงแนวคิดที่จะตั้งศูนย์ AIC ขึ้น เพื่อที่จะยกระดับขีดความสามารถ ความเข้มแข็งของเกษตรกร โดยใช้นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการเกษตร หลังจากที่ท่านกลับไปแล้วได้ทำงานอย่างรวดเร็ว และมีการตั้ง AIC ทุกจังหวัด ผมรู้สึกชื่นชมการทำงานที่รวดเร็วของท่านเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นในวันนี้ที่ท่านได้มาเยี่ยมทำให้ AIC ทุกจังหวัดมีขวัญกำลังใจ ที่ท่านจะได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคของการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ เชื่อว่าด้วยผลงานแนวคิด นโยบายการตั้งศูนย์ AIC จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เกษตรกร ในพื้นที่ และเป็นพื้นฐานการสร้าง Smart farmer young Smart farmer และ start up ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำโลกด้านอาหารต่อไป


ส่วน นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง แนวคิดในการตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 4 ภาคีหลัก ประกอบด้วย ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตรกร ในการปฏิรูปพลิกฟื้นภาคเกษตร ตามนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่่าเราต้องมีโครงสร้างกลไกที่เป็นระดับพื้นที่ เราถึงจะพลิกฟื้นปฏิรูปภาคการเกษตรได้อย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเหมือนอย่างประเทศจีน เดิมทีเป็นประเทศด้อยพัฒนารับผิดชอบคนพันกว่าล้านคน ไม่น่าเชื่อว่าในช่วง 20 ปีหลัง จีนจับทิศทางถูก โดยการใช้ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจการตลาด มาผสมกับระบบสังคมนิยม สิ่งที่เป็นเครื่องยนต์ในการพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คือ เทคโนโลยีองค์ความรู้ภูมิปัญญาพื้นฐานของจีน นี่คือตัวอย่างที่เราได้เห็นว่าการพลิกฟื้นการปฏิรูปจากจนเป็นรวยสามารถทำได้ จากรายได้ต่อหัวของคนจีนที่ต่ำกว่าเรามาก วันนี้สามารถพลิกฟื้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แซงเยอรมันและญี่ปุ่น
ซึ่ง The Wall Street Journal สื่อของอเมริกาได้วิเคราะห์ว่าจีนใช้เวลาพัฒนาไม่เกิน 8 ปี ตรงนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่าเราเดินมาถูกทาง เรามีเครื่องยนต์ตัวหลัก คือ ส่วนราชการของทุก ทบวงกระทรวง กรม ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งเราต้องเสริมเครื่องยนต์ตัวใหม่เข้าไปเป็น new engine ต้องมีบริหารจัดการที่รวดเร็ว ภายใต้เครื่องยนต์ตัวใหม่ 4 คือ ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตรกรมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่าสืบเนื่องจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ เอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations-FAO) ได้ประกาศเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาว่า ภายใต้การเพิ่มของประชากรโลกอย่างรวดเร็วใน 15 ปีข้างหน้า ความต้องการโปรตีนจากสัตว์จะเพิ่มขึ้น 30% แต่ว่าการผลิตเนื้อสัตว์ในปัจจุบัน จะไม่เพียงพอ ฉะนั้นภาวะการขาดแคลนอาหารความมั่นคงทางอาหารจะเป็นโจทย์ใหญ่มาก ดังนั้นข้อสรุปของ FAO จึงประกาศว่า แมลง คือ แหล่งโปรตีนที่สำคัญที่สุดของโลกในอนาคต เมื่อสักครู่จึงใช้เวลานานพอสมควรในการดูนิทรรศการ โดยเฉพาะโครงการวิจัยเกี่ยวกับแมลงที่เรียกว่าเป็น eatable insect หมายถึงแมลงที่สามารถกินได้ทั้งคนและสัตว์ ฉะนั้นการที่ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านแมลงถือว่ามีความก้าวหน้ามาก ในการตีโจทย์อนาคต”นายอลงกรณ์ กล่าว
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 2 ของเอเชีย รองจากประเทศจีนเท่านั้น และ เป็นอันดับ 11 ของโลก เพราะฉะนั้นทั่วโลกต้องการประเทศไทย FAO ออกรายงานล่าสุดเมื่อ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุถึง องค์การอนามัยโลก สหประชาชาติ ที่เผยแพร่ข้อมูลว่าโลกกำลังเข้าสู่ภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร จากหลายปัจจัย รวมไปถึงอัตราของการเพิ่มประชากรโลกที่เสี่ยงต่อความอดอยากเกือบ 300 ล้านคน ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นในระยะเวลาเพียงปีเดียว ประเทศไทยจึงมีภาระที่ไม่ใช่แค่เพียงการไต่อันดับมูลค่าการส่งออกรายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงคนยากคนจนทั้งในประเทศ และ ต่างประเทศทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร
“ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำได้คือ เราต้องใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้ และ ศูนย์ AIC คือความหวังทั้งมวล ทั้งในระดับของพื้นที่และในระดับของศูนย์แห่งความเป็นเลิศที่ต้องเก่งในระดับโลก ดังนั้นหน้าที่ของ AIC ที่ได้ทำมาในช่วงที่ แรกตั้งแต่เดือน มิถุนายน – สิงหาคม และเข้าช่วงที่ 2 ในเดือนกันยายน เป็นต้นมาคือการพัฒนาต่อยอดไปถึงเกษตรกร อุตสาหกรรม การค้า ผู้บริโภคภายใต้เกษตร อาหารปลอดภัย ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางนี้เป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการเป็น top tenของโลกตามที่รัฐบาล รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศ และตั้งเป้าหมายไว้”นายอลงกรณ์ กล่าว.

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads