วันพฤหัสบดี 25 เมษายน 2024

“นักวิจัย มข.”คว้า นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ประจำปี 2564

“นักวิจัย มข.”คว้า นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ประจำปี 2564
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

 “นักวิจัย มข.”คว้า นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ด้านครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ประจำปี 2564


เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา จากการอุทิศตนให้แก่การวิจัยทางครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ อย่างต่อเนื่อง กอปรกับการมีผลงานวิจัยแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างคุณูปการ เกิดประโยชน์ในเชิงวิชาการ มีจริยธรรมนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับยกย่องในวงวิชาการ สามารถเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยในแวดวงเดียวกันได้ ล้วนเป็นคุณสมบัติ ที่ทำให้ ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาสร้างสรรค์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับ อนุมัติรางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2564 จากคณะกรรมการบริหารสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยได้เข้ารับพระราชทาน รางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับเรื่องนี้

ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์

ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาสร้างสรรค์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับความภาคภูมิใจในการรับรางวัลอันทรงเกียรติครั้งนี้ว่า รางวัลพระราชทานนี้เป็นลักษณะของผลงานโดยรวมของการเป็นนักวิจัย ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานวิจัยทั้งหมดตั้งแต่ตนเองมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และ เป็นการทำงานครบปีที่ 11 พอดี ซึ่งการนำเสนอผลงาน จะแบ่งเป็น 3 ส่วน


“ส่วนที่ 1.เรื่องขององค์ความรู้ใหม่ ๆ ในฐานะนักวิจัยทางด้านครุศาสตร์ และ ศึกษาศาสตร์ ที่เราได้สร้างขึ้นมาหลังจากที่มาเป็นอาจารย์ แล้วมีความรู้ใหม่ ๆ ในการประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางด้านการวิจัย มาพัฒนางานวิจัยทางด้านการศึกษา ซึ่งในส่วนนี้นักวิจัยจะต้องเขียนอธิบาย ถึงองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นนักวิจัยทางด้านครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ที่เราได้สร้างขึ้นมาใหม่ให้กับชุมชนวิชาชีพ
ส่วนที่ 2.เป็นการอธิบายถึงสมรรถนะงานวิจัยของตนเอง หมายถึงว่า หากให้เราประเมิน ความสามารถในการปฏิบัติงานวิจัยของเรา เราจะประเมินอย่างไร เช่น เมื่อทำงานวิจัยแล้วตอบโจทย์การศึกษาของชาติหรือไม่ มีการใช้กระบวนการทำงานวิจัยร่วมสมัยหรือเปล่า หัวข้อวิจัยสามารถที่จะปิดรูโหว่ปัญหาของประเทศชาติได้หรือไม่ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา การศึกษาที่ไม่เท่าทัน
ส่วนที่ 3.คุณค่าของการเป็นนักวิจัย เป็นเรื่องของความซื่อสัตย์ทางวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม ของการเป็นนักวิจัยทางด้านครุศาสตร์ และ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งการทำงานวิจัยต้องเป็นสาธารณะ เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ไม่คัดลอกผลงาน และการทำวิจัยที่ถูกจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์”ผศ.ดร.นิวัฒน์ กล่าว


โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้นโครงการวิจัยทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่แสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างคุณูปการเป็นรูปธรรม มีความโดดเด่น ที่ขับเคลื่อนจากความตั้งใจของ ผศ.ดร.นิวัฒน์ เป็นโครงการเกี่ยวกับ การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และ โครงการ KKU Smart Learning Academy ซึ่ง ผศ.ดร.นิวัฒน์ มองว่าการพิจารณารางวัลของคณะกรรมการ นอกจากมุ่งเน้นการได้องค์ความรู้ใหม่ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการวิจัยแล้ว ยังต้องสามารถนำไปใช้และเกิดการพัฒนาได้จริงอย่างกว้างขวางอีกด้วย
“คณะกรรมการเขาพิจารณารางวัลพระราชทาน จากองค์ความรู้ใหม่ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยกระบวนการวิจัย เราไม่ได้ได้ความรู้ใหม่แล้วมันขึ้นหิ้งเพียงอย่างเดียว แต่คือมันมีพื้นที่ มีโครงการของมหาวิทยาลัย ที่เราได้นำเอาองค์ความรู้ใหม่เหล่านั้นไปใช้ แล้วนำไปถ่ายทอดให้กับคุณครู และ โรงเรียนในโครงการ ซึ่งปัจจุบันนี้มี 200 กว่าโรงเรียน ที่ใช้แนวทางการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในโรงเรียนเขาอยู่ทุกวัน โครงการที่อยากจะกล่าวถึงมี 2 โครงการหลัก”
“โครงการแรก คือ โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสกว. เป็นโครงการที่นำมาสู่การที่เราได้องค์ความรู้ใหม่จากการวิจัย ซึ่งได้รับทุนมาตั้งแต่ทุนส่งเสริมนักวิจัยใหม่ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ รับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง ที่เรียกว่า ทุนเมธีวิจัย องค์ความรู้ตรงนั้นเป็นลักษณะของทุนโครงการต่าง ๆ อย่างเช่น การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้เทคโนโลยีเซ็นเตอร์ หรือ การพัฒนากระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สืบเสาะ โดยใช้บริบทเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นฐาน โดยที่เราได้องค์ความรู้ใหม่ๆว่าเราจะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลประเภทต่าง ๆ อย่างไร เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ สามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น การทำโครงการในครั้งนั้นทำให้ได้องค์ความรู้ตามโจทย์ที่สกว.อยากทราบ รวมไปถึงความรู้ใหม่ที่เราสร้างขึ้นมา หลังจากที่เราจบ ป.เอกแล้ว”
“อีกส่วนหนึ่งที่เป็นผลทำให้ได้รางวัล คือส่วนของโครงการ KKU Smart Learning Academy โครงการนี้เป็นโครงการที่มีลักษณะเหมือนของโครงการ Technology Transfer การถ่ายทอดเทคโนโลยี หมายความว่า องค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการรับทุนของทางสกว.มาอย่างต่อเนื่อง และได้มีโอกาสจากโครงการ KKU Smart Learning Academy ที่ดำเนินโครงการในภาคอีสาน 20 จังหวัด 200 กว่าโรงเรียน เป็นพื้นที่ให้เราได้นำเอาองค์ความรู้เหล่านั้น มาร้อยเรียงและทดลองใช้กับโรงเรียน 200 กว่าโรงเรียน ใน 20 จังหวัดภาคอีสานตลอด 4-5 ปี ภายใต้นโยบาย Social Devolution การอุทิศเพื่อสังคมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มุ่งเน้นการนำเอาผลงานวิจัยเข้าไปแก้ปัญหาของสังคม เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย” ผศ.ดร.นิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


ทั้งนี้การพระราชทาน “รางวัลดีเด่นแห่งชาติทางคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ประจำปี 2564” โดย สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ในครั้งนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะผู้ได้รับรางวัลดีเด่นแห่งชาติทางครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเพื่อรับพระราชทานรางวัล ซึ่ง รศ.ดร.สุมาลี ชัยเจริญ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์ ผู้ได้รับรางวัลจาก คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมเฝ้าทูลละอองพระบาทและรับพระราชทานรางวัล ได้แก่ รศ.ดร.จารุณี ซามาตย์ รองรองคณบดีฝ่ายการศึกษาและพัฒนาคุณภาพ รับพระราชทาน รางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ผศ.ดร.นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการศึกษาสร้างสรรค์ รับพระราชทาน รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ อ.ดร.ศานิตย์ ศรีคุณ อาจารย์ประจำสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน รับพระราชทาน รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ อ.ดร.ภาวัต ไชยพิเดช อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ศึกษา รับพระราชทาน รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งชาติ(ระดับปริญญาเอก) อ.ชินภัทร จันทร์เรือง อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายอนุบาลศึกษา รับพระราชทาน รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นแห่งชาติ (ระดับปริญญาโท) และ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ อดีตคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ รับพระราชทาน รางวัลคณบดีเกียรติยศ ในครั้งนี้ด้วย.

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads