วันเสาร์ 4 พฤษภาคม 2024

“สช.”ผนึกภาคี ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยโรคไต’สู่ ‘พรรคการเมือง-รัฐบาลชุดใหม่’

“สช.”ผนึกภาคี ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยโรคไต’สู่ ‘พรรคการเมือง-รัฐบาลชุดใหม่’
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

“สช.”ผนึกภาคี ยกระดับคุณภาพชีวิต ‘ผู้ป่วยโรคไต’สู่ ‘พรรคการเมือง-รัฐบาลชุดใหม่’


สช. จับมือภาคีเครือข่าย รวม 5 หน่วยงาน เปิดพื้นที่กลางผ่านเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ ครั้งที่ 3 เพื่ออัพเดทสถานการณ์ “โรคไตวาย” ในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนนโยบาย-ระบบการรักษา เพื่อแสวงหาข้อเสนอเชิงวิชาการในการดูแล-ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ก่อนสังเคราะห์เป็นนโยบายสาธารณะเสนอ “พรรคการเมือง-รัฐบาลชุดใหม่”


​ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ที่ “ห้องสมุด 100 ปี เสม พริ้งพวงแก้ว” อาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย อันประกอบด้วย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมพยาบาลโรคไตแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ หรือ Policy Dialogue ครั้งที่ 3 หัวข้อ “สิ่งท้าทายและข้อเสนอระบบทดแทนไตของไทยในปัจจุบันและอนาคต” เพื่อฉายภาพสถานการณ์โรคไตในปัจจุบัน ตลอดจนระบบการรักษา และร่วมกันแสวงหาข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า โรคไตนับเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต ในอดีตมีผู้ป่วยโรคไตจำนวนมากที่ต้องล้มละลายจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่ปัจจุบันการรักษาโรคไตเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลของราชการ นั่นทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
​สำหรับวิธีการรักษาผู้ป่วยไตวาย เพื่อบำบัดทดแทนไตเดิมที่เสื่อมสภาพ ปัจจุบันมี 3 วิธีหลัก ได้แก่ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (HD) การทดแทนไตทางช่องท้อง (PD) และการปลูกถ่ายไต (KT) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด แต่ด้วยอัตราการได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะที่จำกัด และปริมาณผู้แทนไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเข้าถึงบริการที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนสถานการณ์และมองถึงอนาคต เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่เหมาะสม
นพ.ประทีป กล่าวว่า หลักการสำคัญของเรื่องนี้คือ ต้องทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเสมอหน้า ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะในชุมชนเมืองเพียงอย่างเดียว และประเทศไทยต้องมีกลไกระดับชาติ ประกอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน ฯลฯ ทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบาย รวมทั้งต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางโรคไตเพื่อติดตามและปรับปรุงระบบ
“ที่สำคัญคือรัฐต้องลงทุนเพื่อขยายระบบบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ช่วยให้ประชาชนไม่ล้มละลายจากค่ารักษา และรัฐต้องดูแลไม่ปล่อยให้เรื่องการรักษาโรคไตเป็นไปตามกลไกการตลาด มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาตามมาจำนวนมาก เช่น คุณภาพบริการ ค่าใช้จ่าย-กำแพงราคา นำไปสู่การเข้าถึงบริการที่ลดลง ท้ายที่สุด รัฐจะไม่สามารถดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการได้” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข

ทางด้าน นพ.วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (NCDs) ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดัน โรคอ้วน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับทุกวันนี้ ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้นเพราะประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงส่งผลไปถึงปัญหาอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีแพทย์เฉพาะทางด้านไต 1,100 คน มีการผลิตเพิ่มปีละ 50-55 คน ขณะที่มีพยาบาลโรคไต 2,400 คน ผลิตเพิ่มปีละ 400-600 คน ซึ่งก็ถือว่าเพียงพอระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่ลึกลงไปคือภาวะหมดไฟจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้บุคลากรไหลออกจากระบบ
สำหรับแนวทางแก้ปัญหาคือ เราต้องร่วมกันควบคุมไม่ให้โรคเบาหวาน-ความดัน เพิ่มขึ้น และต้องให้ความสำคัญกับการคัดกรองโรคไตในระยะแรก ซึ่งปัจจุบันได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการอยู่ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาเร็ว-ค่าใช้จ่ายน้อย ตลอดจนขณะนี้สมาคมโรคไตฯ ได้ร่วมกับภาควิชาชีพในการออกแนวปฏิบัติให้แพทย์ที่ไม่เฉพาะทาง สามารถประเมินการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้เอง และตัดสินใจส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทางได้เมื่อมีความจำเป็น
“ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันยารักษาโรคไตตัวใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ที่สุดแล้วคณะกรรมการฯ ก็จะนำประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาพิจารณาด้วย” นพ.วุฒิเดช กล่าว
    นอกจากนี้ ภายในเวทีเสวนายังมีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ การให้ผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมไม่ต้องรับการอนุมัติจากผู้บริการกองทุนในการปลูกถ่ายไต เหมือนกับอีก 2 สิทธิ เพื่อให้สถานพยาบาลที่ได้รับการส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการปลูกถ่ายไตสามารถดำเนินการได้ทันท่วงที ไม่จำเป็นต้องให้สถานพยาบาลเซ็นรับก่อนและให้ผู้ป่วยกลับไปยื่นเพื่อรอการอนุมัติจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) อีกหลายเดือน การให้ทั้ง 3 กองทุนควรทำให้ระบบเบิกจ่ายเรื่องการให้การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) แก่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการ หรือไม่เหมาะสมกับวิธีการบำบัดทดแทนไต มีความเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดภาระทางงบประมาณในการรักษาได้อีกจำนวนมาก การเปิดพื้นที่ในการพูดคุย เพื่อต่อยอดไปถึงเชิงนโยบายถึงการให้ทุกคนในประเทศไทยยินยอมบริจาคไตหลังเสียชีวิต
อนึ่ง ข้อเสนอทั้งหมดนี้ สช. จะร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการรวบรวมและสังเคราะห์ เพื่อผลักดันไปสู่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพรรคการเมือง และรัฐบาลชุดใหม่ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads