วันศุกร์, 9 พฤษภาคม, 2025

HeaderAD
HeaderAD
HeaderAD
คจ.สช.หารือวาระร้อน ‘สาธารณสุขชายแดน’ เสนอกลไก สช. หาทิศทางรับมือนโยบายสหรัฐฯ พร้อมถกแนวทางจัด ‘สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 18’

คจ.สช.หารือวาระร้อน ‘สาธารณสุขชายแดน’ เสนอกลไก สช. หาทิศทางรับมือนโยบายสหรัฐฯ พร้อมถกแนวทางจัด ‘สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 18’

HeaderAD
HeaderAD
HeaderAD

คจ.สช.หารือวาระร้อน ‘สาธารณสุขชายแดน’
เสนอกลไก สช. หาทิศทางรับมือนโยบายสหรัฐฯ
พร้อมถกแนวทางจัด ‘สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ 18’

   ที่ประชุม คจ.สช. 2567-2568 ร่วมพิจารณาแนวทางจัด “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18” เผยความคืบหน้า 2 ประเด็น “การเปลี่ยนผ่านพลังงาน – Silver Economy” เตรียมการแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาประเด็น พร้อมหารือปมปัญหาร้อน ระบบสาธารณสุขชายแดน-ผลพวงจากนโยบายสหรัฐอเมริกา เสนอใช้กลไก พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ สร้างนโยบายสาธารณะแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) พ.ศ. 2567-2568 ครั้งที่ 1/2568 ซึ่งมี ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางการจัด “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 พ.ศ. 2568” รวมถึงติดตามความคืบหน้าในการดําเนินงานพัฒนาประเด็น การแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาประเด็น พร้อมทั้งพิจารณาแผนการดําเนินงานของ คจ.สช. ในระยะต่อไป

ดร.สัมพันธ์ เปิดเผยว่า สำหรับภาพรวมของการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ได้มีผู้เข้าร่วมงานทั้งในสถานที่ประชุมและผ่านช่องทางออนไลน์รวม 1,639 คน และมีผู้ที่เข้าร่วมในกระบวนการพัฒนามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้ง 2 ประเด็น รวม 1,972 คน โดยล่าสุดทางทีมคณะทำงานได้มีการประเมินผลและสรุปบทเรียนออกมาเป็นข้อเสนอแนะในด้านต่างๆ เพื่อให้ทาง คจ.สช. ได้นำมาพิจารณาร่วมกัน และนำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานต่อไป
สำหรับการสรุปบทเรียนการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ได้มีข้อเสนอแนะ เช่น กรอบแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพฯ จะให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเพิ่มการเข้าถึง เพิ่มความเชื่อมโยงสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับพื้นที่ระดับจังหวัด สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่าย เพิ่มการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง สร้างกลไกผลักดันมติไปสู่การปฏิบัติ บูรณาการเข้ากับนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ เป็นต้น

ดร.อังคณา เลขะกุล ประธานคณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า ในการวางกรอบแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ซึ่งจะมีการจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 2568 นี้จะยังคงยึดโยงกลับไปบนเป้าหมายตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการมุ่งเน้นให้เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนในสังคมอย่างสมานฉันท์ ที่นำไปสู่การเกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของประชาชน จึงได้วางกรอบออกมาบนพื้นฐานของหลักการ 4PW
ทั้งนี้ ประกอบด้วย Participation ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมที่ไม่เฉพาะในวันจัดสมัชชาสุขภาพฯ เท่านั้น แต่ต้องมีตลอดเส้นทางกระบวนการ นับตั้งแต่การกำหนดประเด็น การจัดทำวาระนโยบาย, Public Policy ยืนหยัดอยู่บนหลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ต้องดึงการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม, Process ไม่ได้เน้นเฉพาะกระบวนการขาขึ้น แต่ยังต้องเน้นต่อในขาเคลื่อน โดยทำงานร่วมกับกลไกอื่นๆ เช่น หน่วยงานระดับพื้นที่ และ Wisdom ให้คุณค่ากับการพูดคุยที่จะส่งเสริมให้เกิดปัญญาจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน

ดร.อังคณา กล่าวว่า ในส่วนของความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาประเด็น ขณะนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น คือ 1. การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์ ได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักคือ กระทรวงพลังงาน โดยมติจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ ทั้งในมิติเรื่องของเทคโนโลยี การเข้าถึง การส่งเสริมให้คนใช้งานมากขึ้น ตลอดจนการดูแลรักษา และมองไปจนถึงกระบวนการกำจัดที่ครบวงจร โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการร่างรายชื่อคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ที่มี รศ.สุธา ขาวเธียร จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน
2. การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน Silver Economy ได้มีการหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักคือ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยมติจะมุ่งเน้นไปถึงการสร้างโอกาสและเตรียมความพร้อมในสังคมผู้สูงวัย โดยมองผู้สูงอายุทั้งในมิติของผู้ผลิต เมื่ออายุมากขึ้นจะสามารถทำงานอะไร ศักยภาพใดที่ยังมีอยู่และนำมาใช้ประโยชน์ได้ และในมิติของผู้บริโภค ว่าจะมีศักยภาพในการจับจ่ายซื้อของอย่างไร จะมีสินค้าและบริการอะไรที่สอดคล้องกับเขา รวมทั้งไม่ได้มองไปที่ผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่ไม่ว่ากลุ่มอายุใดก็จะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนไปถึงจุดนั้น โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการร่างรายชื่อคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ที่มี น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นประธาน

ขณะที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดําเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นที่สำคัญและน่าสนใจอีกอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ ประเด็นสืบเนื่องของการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีความเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนผ่านผู้บริหารท้องถิ่นชุดใหม่ ซึ่งควรเข้าไปดูว่าพื้นที่ต่างๆ มีประเด็นปัญหาอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อทำให้การบริการสุขภาพแก่ประชาชนนั้นดีขึ้นหรือไม่ด้อยไปกว่าเดิม
นพ.สุพรรณ กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่มีความสำคัญจำเป็นขณะนี้ คือปัญหาระบบสาธารณสุขชายแดน ภายหลังสหรัฐอเมริกายกเลิกความช่วยเหลือในหลายๆ ด้าน ที่จะส่งผลให้เกิดภาระหนักต่อหน่วยบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชายแดนเพิ่มมากขึ้น ยังไม่รวมไปถึงผลกระทบในอีกหลายด้าน ที่อาจเกิดจากนโยบาย เช่น การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO) การยกเลิกสนับสนุนหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) เป็นต้น


สำหรับที่ประชุม คจ.สช. ในครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อแนวทางการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 และการดำเนินงานพัฒนาประเด็นต่างๆ โดยขณะเดียวกันยังได้มีการหารือถึงประเด็นผลพวงจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เห็นพ้องถึงความสำคัญเร่งด่วนที่จำเป็นจะต้องหาเวทีในการพูดคุยเพื่อให้เกิดแนวทางในการรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมเสนอถึงการใช้กลไกของ สช. และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ฯลฯ ที่จะเข้ามาทำให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่สนองตอบในเรื่องนี้ต่อไป

ด้าน นายสมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อํานวยการสำนักนโยบายสาธารณะภาคใต้ สช. กล่าวว่า ในส่วนของข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากที่ประชุม คจ.สช. ในเบื้องต้น จะมีการนำไปหารือกับทีมผู้บริหาร สช. และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อนำประเด็นปัญหาที่เป็นวาระเร่งด่วนในขณะนี้ไปสู่การจัดการทิศทางนโยบายระบบสุขภาพในระดับประเทศ ผ่านการดำเนินงานของ สช. ที่มีกลไกของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งสามารถเสนอแนะนโยบายด้านสุขภาพเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้โดยตรง.

3bb-ad
3bb-ad

About The Author

Related posts

HeaderAD
HeaderAD
HeaderAD