‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ รับนโยบาย คสช. เร่งปกป้องเด็ก-เยาวชนจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’สช.ดึงกลไกท้องถิ่น-กขป. ร่วมขับเคลื่อน
คสช. รับทราบผลการขับเคลื่อนนโยบายปกป้องและคุ้มครองเด็ก-เยาวชนจาก “บุหรี่ไฟฟ้า” ของ สช.-หน่วยงานภาคี พร้อมทั้งเตรียมผนวกกลไก “กขป.” และ “ธรรมนูญสถานศึกษา” ลงใน (ร่าง) แผนปฏิบัติการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า 3 ระยะฯ ตามนโยบายรัฐบาล “รองนายกฯ ประเสริฐ” เผยเล็งดำเนินการเพิ่มเติม 2 มาตรการ “เข้ม บ.ขนส่งพัสดุ-ใช้เอไอช่วยปิดกั้นสื่อออนไลน์” พร้อมหนุนการใช้เทคโนโลยีโทรเวชกรรม “Telemedicine” ในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วยลดช่องว่าง-ความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 2/2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร โดยที่ประชุมมีมติรับทราบผลการขับเคลื่อนนโยบายการปกป้องและคุ้มครองเด็ก เยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันดำเนินการ พร้อมทั้งยังให้ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ายังน่าเป็นห่วงและจะส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา ภายใต้ความร่วมมือกันของหน่วยงานหลายภาคส่วน ซึ่งในส่วนของดีอีเอง นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2567 – มี.ค. 2568 ได้ดำเนินการปิดกั้นสื่อออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 9,500 รายการ
“ในฐานะ รมว.ดีอี จะขอรับไปดำเนินการเพิ่มเติมใน 2 ประเด็น อย่างแรกคือจะต้องมีมาตรการกำกับดูแลบริษัทขนส่งเพิ่มเติม เพื่อควบคุมการขนส่งพัสดุผิดกฎหมายให้มากขึ้น กับอีกส่วนคือการเดินหน้าปิดกันสื่อออนไลน์ แม้ที่ผ่านมาจะดูเหมือนปิดไปเยอะ แต่ก็มีการเปิดใหม่ขึ้นมาอยู่ตลอด คิดว่าต่อไปจะต้องเรียกแพลตฟอร์มออนไลน์ทุกแห่งมาพบ แล้วใช้เอไอเป็นเครื่องมือกวาดจับทั้งหมด ไม่ว่าคำหรือรูปภาพที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า เพราะไม่อย่างนั้นถึงปิดไป ก็มีการเปิดใหม่อยู่ตลอดเวลา คิดว่าเป็นอีกส่วนที่เราต้องช่วยกันในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเองก็ให้ความสำคัญในการปราบปรามอย่างจริงจัง” นายประเสริฐ กล่าว
สำหรับการขับเคลื่อนนโยบายการปกป้องและคุ้มครองเด็ก เยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าของ สช. และภาคีเครือข่ายมีความคืบหน้ามาเป็นลำดับ นับตั้งแต่ที่ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม คสช. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งปัจจุบัน สช. อยู่ระหว่างนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบ 5 มาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามข้อเสนอของมติสมัชชาสุขภาพฯ ดังกล่าว
ขณะที่การดำเนินงานในส่วนของ สช. ที่ผ่านมา อาทิ สนับสนุนการขับเคลื่อนการป้องกันปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านกลไกเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาแผนงานและกลยุทธ์การดำเนินงานที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละเขต รวมถึงการพัฒนาชุดข้อมูล รณรงค์ให้ความรู้ การเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมายในท้องถิ่น โดยมีพื้นที่ดำเนินการในระยะแรก จำนวน 8 เขตพื้นที่ ครอบคลุมทุกภาค
รวมไปถึงการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการพัฒนาและขับเคลื่อนธรรมนูญสถานศึกษาตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งจะสนับสนุนให้สถานศึกษาในพื้นที่พิจารณาประเด็นปัจจัยเสี่ยงยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้า เป็นความสำคัญในลำดับต้น เป็นต้น
นอกจากนี้ แผนการดำเนินงานของ สช. ทั้งการขับเคลื่อนผ่านกลไก กขป. และธรรมนูญสุขภาพสถานศึกษา ยังได้ถูกระบุอยู่ในยุทธศาสตร์หนึ่งของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวตามนโยบายรัฐบาล (ฉบับล่าสุดวันที่ 4 เม.ย. 2568) ที่ประกอบไปด้วยแผนปฏิบัติการ 3 ยุทธศาสตร์ 6 มาตรการ 141 แผนปฏิบัติการ อีกด้วย
ภายในวันเดียวกัน ที่ประชุม คสช. ยังได้มีมติรับทราบผลการศึกษา โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อปรับใช้นวัตกรรมระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) ในสถานบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ สช. ได้ร่วมกับ อบจ.ลำปาง โดยการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการศึกษาและออกแบบระบบโทรเวชกรรมต้นแบบ “iHealthCare” ที่ช่วยลดข้อจำกัดในด้านการเดินทางเข้ารับบริการของประชากรในพื้นที่ห่างไกล โดยพบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัวได้ตั้งแต่ 300-3,290 บาท และเพิ่มศักยภาพการให้บริการของ รพ.สต. ได้
ขณะเดียวกัน โครงการวิจัยนี้ยังได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย เช่น ให้นำแนวคิดการผสมผสานระบบโทรเวชกรรมบนฐานการมีส่วนร่วมมาปรับใช้ กำหนดแนวทางการเชื่อมโยงระบบสารสนเทศกลางด้านสุขภาพ พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พัฒนารูปแบบและนวัตกรรมการบริการด้านสุขภาพอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ซึ่งที่ประชุม คสช. ได้ให้ข้อเสนอแนะ และมอบหมายให้ สช. ประสานความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอต่อไป
นายประเสริฐ กล่าวว่า การศึกษานี้เป็นโครงการที่ดี และข้อเสนอหลายอย่างก็สามารถนำไปประสานดำเนินการได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของเป็นการพัฒนาศักยภาพ อสม. หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโครงข่ายสัญญาณอินเตอร์เนทในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งทางกระทรวงดีอี ยินดีให้การสนับสนุนในพื้นที่นำร่องโครงการ โดยในที่ประชุมยังมีส่วนที่เป็นข้อสังเกตให้ทางคณะทำงานนำไปพิจารณาต่อ ในประเด็นของการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบโทรเวชกรรม รวมทั้งระบบการเชื่อมโยงข้อมูล
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า การเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมยังคงเป็นความท้าทายของระบบสุขภาพไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ที่ประชากรกลุ่มเปราะบางต้องเผชิญอุปสรรคในการรับบริการสุขภาพ ซึ่งโครงการวิจัยของ สช. และ อบจ.ลำปาง ครั้งนี้เป็นการใช้โอกาสการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. สู่ อบจ. ที่ให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการจัดบริการที่ตอบโจทย์พื้นที่ และสอดคล้องกับหลักการตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2565 ที่เน้นการเข้าถึงและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ในช่วงท้ายของการประชุม คสช. ยังได้มีมติรับทราบผลการดำเนินงานของ กขป. เขตพื้นที่ 11, 12 และ 13 ที่มีการดำเนินการเพื่อให้เกิดการบูรณาการด้านระบบสุขภาพในพื้นที่ ทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเขต ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ปฏิบัติการ โดยแต่ละเขตมีการดำเนินงานในประเด็นสุขภาพที่สำคัญ ประกอบด้วย เขตพื้นที่ 11 ดำเนินการ 4 ประเด็น ได้แก่ เด็กและเยาวชน สุขภาวะ Active aging (รองรับสังคมสูงวัยและกลุ่มเปราะบาง) เกษตรสุขภาพ และพื้นที่สาธารณะปลอดขยะ
สำหรับเขตพื้นที่ 12 ดำเนินการ 4 ประเด็น ได้แก่ บุหรี่และปัจจัยเสี่ยง สุขภาวะแม่และเด็ก สุขภาวะกลุ่มเปราะบางทางสังคม และเกษตรและอาหารเพื่อสุขภาพ ในส่วนของเขตพื้นที่ 13 ดำเนินการ 2 ประเด็น ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร การยกระดับการพัฒนากลไกและขับเคลื่อนสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร