หน่วยงาน ‘ภาคีอาสา’ประกาศหลอมรวมต้นทุน-ทรัพยากรผลักดัน ‘นครสวรรค์’ เป็นสวรรค์ของทุกคน
ภาคีอาสา 9 หน่วยงานระดับชาติ หลอมรวมต้นทุน-สานพลังการทำงาน หวังสร้าง จ.นครสวรรค์ ในฐานะ 1 ใน 5 พื้นที่นำร่อง ให้เป็นสวรรค์ของคนทุกคน “รองเลขาธิการ คสช.” ระบุ ปี 2569 เตรียมขยายความร่วมมือเพิ่มอีก 7 จังหวัด ด้านรอง ผอ.พอช. ชี้ กำลังหาช่องบูรณาการงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน เข้าเป็น “กองทุนกลาง” หนุนเสริมความเข้มแข็งจังหวัด
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วยภาคียุทธศาสตร์รวม 9 หน่วยงาน ที่รวมตัวกันในนาม “ภาคีอาสา” (Area Strengthening Alliance – ASA) สานพลังจัด เวที Kick off เชื่อมประสานความร่วมมือกลไกการพัฒนาจังหวัดนครสวรรค์ สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง “นครสวรรค์: สวรรค์ของคนทุกคน” โดยมีผู้เข้าร่วมงานผ่านทางระบบ online และ on-site เนืองแน่น ซึ่งภายในงานมีการจัดเวที สร้างความเชื่อมั่น: การหนุนเสริมจากองค์กรภาคีจังหวัดอาสา จากผู้บริหารหน่วยงานเครือข่ายภาคีอาสา เพื่อประกาศจุดยืนและให้ความเชื่อมั่นแก่พื้นที่ว่าจะสนับสนุนให้ จ.นครสวรรค์ เป็นสวรรค์ของคนทุกคน (Heaven For All, All For Heaven)
สำหรับ 9 หน่วยงานที่รวมตัวกันในนาม “ภาคีอาสา” ประกอบด้วย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
ศ. ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคีอาสาทั้ง 9 หน่วยงานได้ทำงานกับภาคประชาสังคมมาอย่างยาวนาน เกิดเป็นต้นทุนที่มีคุณูปการแก่สังคมจำนวนมาก การสานพลังเพื่อขับเคลื่อนการทำงานไปสู่การสร้างดาวดวงเดียวกันโดยใช้พื้นที่เป็นฐานจะยิ่งสร้างความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น โดยภาคีอาสาจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนจังหวัดและร่วมประเมินการทำงานเป็นสำคัญ
“ตราบใดที่ภาคประชาสังคมไม่ได้ถูกยกระดับให้เป็นสถาบันก็จะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้ คำว่าสถาบันในที่นี้คือกลไกพื้นที่กลางซึ่งมีความต่อเนื่อง มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน มีกฎ กติกา ในการดำเนินงาน และมีคณะกรรมการสำหรับประสานงาน ภาคประชาสังคมจึงต้องยกระดับจากการทำงานเป็นโครงการมาสู่การเป็นสถาบัน ซึ่งมีโครงสร้างการทำงานแบบหลวมๆ พร้อมจะเปิดพื้นที่ให้ภาคีทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันขับเคลื่อน” ศ. ดร.บรรเจิด กล่าว
นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จ.นครสวรรค์ ถือเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องของปี 2568 โดยมี สช. เป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วนในการสร้างพื้นที่กลางและร่วมกันระดมสรรพกำลังต่างๆ จากหน่วยงานส่วนกลาง ทั้งคน เงิน องค์ความรู้ รวมไปถึงระบบการจัดการต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่มีอยู่ในพื้นที่
“ในปี 2569 เราจะเพิ่มจำนวนและขยายไปยังพื้นที่เป้าหมายใหม่อีก 7 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำพูน อำนาจเจริญ สุพรรณบุรี ปทุมธานี ปัตตานี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งในเวลานี้เริ่มมีเพื่อนจังหวัดอื่นๆ ถามกันมาแล้วว่าขอเขาร่วมด้วยได้หรือไม่ คำตอบคือยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทำกันอยู่ในช่วงนี้เป็นเพียงการบริหารจัดการในระยะเริ่มต้น ต่อไปก็จะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า หากเปรียบ จ.นครสวรรค์ ถือว่ามีกองทัพอยู่แล้ว นั่นคือภาคราชการที่กำลังพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ ในจังหวัด โจทย์คือกองทัพหนุนอย่างภาคประชาสังคมและภาคประชาชน จะสามารถสานพลังกับส่วนราชการได้อย่างไร รวมไปถึงจะให้กองทัพเสริม ซึ่งก็คือภาคีอาสาที่เป็นหน่วยงานจากส่วนกลางมาช่วยทำอย่างไรให้ จ.นครสวรรค์ สามารถรบชนะกับปัญหาต่างๆ ซึ่ง สสส. และภาคีอาสา อยากเห็นภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่เข้มแข็งทำงานพัฒนาพื้นที่ โดยมีฐานข้อมูลเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน
ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การเกิดภาวะฉุกเฉินทุกวันนี้เกิดบ่อยขึ้นมากและมีหลากหลายรูปแบบ การจะสร้างนครสวรรค์เพื่อให้เป็นสวรรค์สำหรับทุกคนจะต้องมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้มแข็ง ซึ่งในพื้นที่ 15 อำเภอ 128 ตำบล ของ จ.นครสวรรค์ สพฉ. มีหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนทำงาน อยู่ทั้งหมด 80 หน่วย ในอนาคตจะต้องพยายามทำให้ครอบคลุมในทุกตำบล และต่อไปข้างหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ (อบจ.นครสวรรค์) จะเข้ามาดำเนินการเรื่องศูนย์รับแจ้งเหตุ แทนโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ส่วนทางโรงพยาบาลจะยังคงทำหน้าที่ในการควบคุมปฏิบัติการและให้คำปรึกษาในการรักษาทางการแพทย์ โดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. ต้องการทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของหลักประกันสุขภาพของตนเองจึงดำเนินการส่งผ่านงบประมาณไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งแต่ระดับย่อยอย่าง อบต. ไปจนถึงระดับ อบจ. ภายใต้กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด รวมไปถึงกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) เพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนในพื้นที่ ประเด็นสำคัญคือเราจะบริหารจัดการงบประมาณเหล่านี้อย่างไรเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน และจะทำอย่างไรไม่ให้ทุกท่านต้องไปจัดทำรายงานส่งทีละหลายหน่วยงาน ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน
นายวิชัย นะสุวรรณโน รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ตัวชี้ขาดการทำงานสำคัญอยู่ที่การเชื่อมร้อยภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ให้เข้าหาและมาทำงานด้วยกัน ซึ่งในขณะนี้ จ.นครสวรรค์ ได้มีการเชื่อมโยงกันแล้วไม่ต่ำกว่า 16 เครือข่าย และหากสามารถเชิญชวนให้ภาคประชาสังคมที่มีอยู่อีกจำนวนไม่น้อย เข้ามาร่วมภารกิจนี้ได้มากเท่าไหร ก็จะสามารถเปลี่ยนนครสวรรค์ให้เป็นสวรรค์ของทุกคนได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ สิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีการบูรณาการทรัพยากรเข้าด้วยกัน จะต้องมีการทำเป็นกองทุนกลางเพื่อให้เกิดการมาหนุนเสริมพื้นที่ด้วยกัน
“ในตอนนี้ สสส. ได้มีการจับมือกับทาง อบจ. ต่างๆ และกำลังมีการพูดกันอยู่ว่า หน่วยงานภาคีอาสาทั้งหมดที่มีกองทุนหรือมีงบประมาณ ต่อไปเราจะทำให้เกิดการบูรณาการงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน เพื่อมาเป็นกองทุนกลางในการหนุนเสริมจังหวัดได้หรือไม่ ปัจจุบันกำลังศึกษากันอยู่ ซึ่งได้มีการตั้งวงคุยกันมา 1-2 ครั้ง และกำลังศึกษาออกแบบกฎระเบียบ กฎหมายของแต่ละหน่วย ว่าจะสามารถทำกองทุนกลางแบบที่ สสส. ทำกับ อบจ. ได้หรือไม่” นายวิชัย กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ในการร่วมเป็นภาคีอาสาของ สวรส. นั้น เรามีบทบาทในการทำหน้าที่การประเมิน ซึ่งจะประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรกคือ การกำกับและประเมินผลความคืบหน้าของการพัฒนาในพื้นที่ รวมทั้งทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ร่วมคิดร่วมทำกรอบตัวชี้วัดในการประเมิน เพื่อให้สอดคล้องกับหลักวิชาการที่จะต้องใช้ผลการประเมินได้ ส่วนที่สองคือการประเมินภาพรวมของกระบวนการการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ว่าได้ก่อให้เกิดบทเรียนอะไรบ้าง ที่จะนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยต่อไป
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า สิ่งที่ สรพ. จะเข้ามาหนุนเสริมภารกิจของภาคีอาสา คือการเป็นกลไกในการบริหารและพัฒนาคุณภาพหน่วยบริการสุขภาพในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสถานพยาบาลปฐมภูมิ ที่สามารถปรับใช้ได้ในทุกๆ สังกัด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานและบริหารคน พร้อมสนับสนุนเรื่องการสร้าง การพัฒนาเครือข่าย และศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสถานพยาบาลปฐมภูมิใน จ.นครสวรรค์ ซึ่งหมายความว่าทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สามารถเข้าร่วมกระบวนเหล่านี้เพื่อพัฒนาและได้รับการรับรองคุณภาพ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุน รวมไปถึงการเปิดโอกาสให้ภาคีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบบริการ แก่สถานพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิในพื้นที่.