เคาะ! วันประกาศใช้‘ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ’(three)(one) มี.ค. 2569 ตรงกับวันตัวตนคนข้ามเพศสากล
เคาะ! วันประกาศใช้ ‘ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ’ วันที่ 31 มี.ค. 69 ตรงกับวันสากลแห่งการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ หรือ TDOV เปิด Action Plan รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาวะฯ ครั้งแรก เดือน ต.ค. 68 ครั้งที่สอง เดือน ม.ค. 69 ปรับปรุง แก้ไขตามความเห็นจนครอบคลุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนประกาศใช้ หวังยกระดับ สวัสดิการสังคม-การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-การศึกษา-การเข้าถึงสาธารณสุข-การมีงานทำ ให้กับคนข้ามเพศ
เมื่อวันที่ 29 – 30 มิ.ย. 2568 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) โดยสำนักนโยบายสาธารณะเขตเมือง ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายคนข้ามเพศ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อคนข้ามเพศ (คขพ.) และยก (ร่าง) ‘ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ’ เพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ร่วมนำเสนอภาพฝันและความต้องการที่อยากจะขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น นำไปสู่การสังเคราะห์และออกแบบร่างธรรมนูญฯ ดังกล่าว
ทั้งนี้ ภายในงานมีการประชุม คขพ. ครั้งที่ 2/2568 ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบถึงโครงสร้างการยก (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ และได้ร่วมกันร่างพัฒนาแผนปฏิบัติการ (Action Plan) สำหรับการขับเคลื่อนและพัฒนา (ร่าง) ธรรมนูญสุขภาวะฯ ต่อไป
ณชเล บุญญาภิสมภาร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อคนข้ามเพศ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการฯ และภาคีเครือข่ายคนข้ามเพศ ได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “Deep listening & Safe Zone ความทุกข์ร่วม ความสุขร่วม ความฝันร่วม” ตลอด 2 วันที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งโครงสร้างการยกร่างธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ ที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์อย่างมีส่วนร่วม และที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีมติข้อสรุปร่วมกันว่า จะประกาศใช้ธรรมนูญฯ อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 31 มี.ค. 2569 ซึ่งตรงกับวันสากลแห่งการตระหนักถึงตัวตนของคนข้ามเพศ (TDOV) โดยขณะนี้ได้มีการเริ่มต้นวางโครงสร้างบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ในคณะทำงานยกร่างธรรมนูญฯ แล้ว ประกอบด้วยภาคีเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนสิทธิคนข้ามเพศ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และนักกฎหมาย รวมไปถึงภาคีหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานฯ
“ตาม Action Plan ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดขึ้นวันนี้ คือใน 3 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ ก.ค. – ก.ย. คณะทำงานฯ จะยกร่างดราฟแรกขึ้นมาก่อน แล้วจะมีการประชุม คขพ. กันอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย. 68 เพื่อติดตามความคืบหน้า พร้อมกับช่วยกันดูรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญฯ ครั้งที่ 1 ในเดือน ต.ค. 68 จากนั้นคณะทำงานฯ จะทำการทบทวนปรับปรุงร่าง แล้วรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 ในรูปแบบออนไซต์ กันในเดือน ม.ค. 69 ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มี.ค. 69 ตามที่ตั้งเป้าหมายกันเอาไว้” ณชเล กล่าว
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะดำเนินการพัฒนาจากโครงสร้างการยกร่างธรรมนูญฯ ที่ได้ออกแบบไว้ทั้งหมด 5 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 ได้ระบุให้กำหนดคุณค่าและความสำคัญ อุปสรรค ของสิ่งที่ทำสำเร็จมาแล้วในอดีต หมวดที่ 2 ว่าด้วยการนิยามศัพท์และความหมายที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ หมวดที่ 3 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของร่างธรรมนูญฯ ว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายที่พึงประสงค์ และแนวปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความต้องการให้มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ การมีสวัสดิการในสังคมเพื่อรองรับคนข้ามเพศ รวมไปถึงระบบการศึกษาที่ครอบคลุมและทำให้สังคมเข้าใจถึง SOGIESC หรือโมเดลโซจี้ ที่ใช้ในการอธิบายความหลากหลายเรื่องทางเพศ การเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมไปถึงการมีงานทำมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
หมวดที่ 4 คือ การออกแบบกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อการยอมรับความหลากหลายในสังคม และหมวดที่ 5 การกำหนดระบบการประเมินผลความสำเร็จ โดยรายละเอียดต่างๆ ที่จะระบุลงไปใน 5 หมวดที่กล่าวมาข้างต้น อาจจะมีการปรับปรุง แก้ไขร่างธรรมนูญฯ จากผู้มีส่วนได้เสียในอีกหลายๆ วาระ เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ของธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศ
ศิรวิทย์ กมลธรรมศิษฏ์ นักวิชาการ สช.ม. กล่าวว่า ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ บุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมตามวรรคหนึ่ง” ซึ่งการพัฒนาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการยกระดับสิทธิต่างๆของคนข้ามเพศ ที่ สช. ได้ร่วมกันขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่าย เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ยกมาข้างต้น
ทั้งนี้ ธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือหนึ่งใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะสำหรับคนข้ามเพศ ผ่านการสานพลังและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแน่นอนว่า การประชุมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ เป็นเพียงก้าวแรกของกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพเท่านั้น
“คขพ. เป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 2568 เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคนข้ามเพศ ซึ่งมีธรรมนูญสุขภาพเป็นหนึ่งในรูปธรรมการขับเคลื่อนดังกล่าว โดย คขพ. จะร่วมกันสร้างธรรมนูญสุขภาวะคนข้ามเพศให้บรรลุตามเป้าหมายที่จะประกาศใช้ในวันที่ 31 มี.ค. 69 ซึ่งถือเป็นการจบกระบวนการขาขึ้นเท่านั้น เพราะยังมีกลไกขาเคลื่อนให้สิ่งที่ร่วมกันกำหนดไว้ในธรรมนูญสุขภาพฯ สำเร็จเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติด้วย” ศิรวิทย์ กล่าว.