“คณะเทคโนโลยี มข.”ส่งมอบองค์ความรู้จากคณาจารย์ เพื่อประโยชน์แก่สังคม ทำไมแผ่นดินไหวทำให้น้ำผุดมีสีขุ่นขึ้น กรณีน้ำผุดทัพลาว
รศ.ดร.วิมลทิพย์ สิงห์เถื่อน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีธรณี คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่าน้ำผุดทัพลาวตั้งอยุ่ที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานธรณีชัยภูมิและเป็นมรดกธรณีที่ทรงคุณค่าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรธรณีที่มีความสำคัญด้าน karst hydrogeology ในระดับสากล จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ (Mondalay Earthquake 2025) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลกระทบให้น้ำผุดทัพลาวมีความขุ่นและสีที่แตกต่างไปจากปกติ
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงส่งผลให้ดินและตะกอนใต้ดินเกิดการเคลื่อนตัวและผสมกับน้ำใต้ดิน ปรากฏการณ์นี้ทำให้น้ำผุดหรือบ่อน้ำพุมีลักษณะขุ่นขึ้น เนื่องจากอนุภาคดินเหนียว ทราย และตะกอนละเอียดที่สะสมอยู่ใต้ดินถูกพัดพาขึ้นมาตามช่องว่างระหว่างเม็ดดินและไหลขึ้นมาตามบ่อน้ำผุด หนึ่งในสาเหตุสำคัญคือ ดินเหลว (Soil Liquefaction) ซึ่งมักเกิดขึ้นในชั้นทรายอิ่มน้ำที่มีความหนาแน่นต่ำ เมื่อได้รับแรงสั่นไหวอย่างรุนแรง ดินจะสูญเสียความแข็งแรงและมีสภาพคล้ายของเหลวชั่วคราว (Temporary Fluidization) ทำให้ตะกอนดินฟุ้งกระจายและถูกดันขึ้นมาตามช่องทางของน้ำใต้ดิน ส่งผลให้น้ำที่ผุดขึ้นมามีลักษณะขุ่นมากกว่าปกติ
อีกปัจจัยหนึ่งคือ แรงดันรูพรุน (Pore Water Pressure) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระดับแรงดันในชั้นน้ำบาดาล เช่น confined aquifer และ unconfined aquifer เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แรงดันที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันนี้สามารถดันน้ำใต้ดินขึ้นสู่ผิวดินพร้อมพัดพาตะกอนละเอียดขึ้นมาด้วย
ดังนั้น การที่น้ำผุดมีสีขุ่นขึ้นหลังแผ่นดินไหวจึงเกิดจากการเคลื่อนที่ของตะกอนดินที่ถูกพัดพาขึ้นมาจากแรงสั่นสะเทือน การเปลี่ยนแปลงแรงดันรูพรุน และการเกิดดินเหลวในชั้นทรายอิ่มน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากแรงกระทำทางกลศาสตร์ของดินที่เกิดขึ้นในช่วงแผ่นดินไหว
เกล็ดความรู้ด้านธรณีวิทยาและการเกิดน้ำผุดทัพลาว:พื้นที่น้ำผุดทัพลาวมีลักษณะธรณีวิทยาที่มีลักษณะเฉพาะและโดดเด่น โดยภูเขาหินปูนของหมวดหินผานกเค้า (หินปูนเนื้อดิน) โผล่ปรากฎเป็นเทือกเขาและภูมิประเทศแบบคาสต์ทางทิศตะวันตก ซึ่งหินปูนเหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นชั้นหินอุ้มน้ำที่มีช่องว่างและโพรงจำนวนมากทำให้น้ำใต้ดินสามารถไหลผ่านไปได้จนระดับน้ำใต้ดินไปสัมผัสกับหินตะกอนเนื้อประสมของหมวดหินหัวนาคำ (หินดินดานและหินทรายแป้ง) ที่แสดงเป็นพื้นที่ราบทางทิศตะวันออกและจัดเป็นชั้นหินทึบน้ำที่ไม่มีช่องว่างให้น้ำบาดาลไหลผ่านไปได้ น้ำบาดาลจึงไหลผุดขึ้นมาด้านบนตามช่องว่างหรือระนาบแนวสัมผัสระหว่าง 2 หมวดหิน ปรากฎเป็นน้ำผุดทัพลาวและน้ำผุดหรือตาน้ำตามแนวสัมผัสบริเวณอำเภอคอนสาร เช่น น้ำผุดทัพลาว น้ำผุดนาเลา น้ำผุดนาวงเดือน ธารน้ำผุดอิงภู น้ำผุดหินลาด เป็นต้น การที่มีน้ำผุดจำนวนมากทำให้เกิดเป็นลำห้วยไหลผ่านตำบลห้วยยาง ดงกลาง และโนนคูณ ของอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
ข้อมูลวิชาการ Singtuen, V., Nulay, P., Kaweera, A., Charoentitirat, Th., Phajuy, B. (2024) Geoheritage Characterisation of Thap Lao Karst Spring in Chaiyaphum Geopark, Northeastern Thailand for Sustainable Geotourism Development. Geoheritage, 16, 113. https://doi.org/10.1007/s12371-024-01021-0.
ขอบคุณภาพบางส่วนจากคุณ Gif Supawilai Pluemjai ข้อมูลอัพเดตจาก หัวหน้าฯ เต้ย วุฒิศักดิ์ หัวหน้าสวนรุกขชาติน้ำผุดทัพลาว กล่าวว่าปัจจุบันความขุ่นของน้ำได้ลดลงจนเกือบใกล้ปกติแล้ว.