วันอังคาร 16 เมษายน 2024

“ชุติมา” ลุยชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าว เพื่อแก้ปัญหาข้าวอย่างยั่งยืน

“ชุติมา” ลุยชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าว เพื่อแก้ปัญหาข้าวอย่างยั่งยืน
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

“ชุติมา” ลุยชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าว เพื่อแก้ปัญหาข้าวอย่างยั่งยืน

รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร เพื่อผลิตข้าวที่มีคุณภาพ และเพื่อหาตลาดมารองรับผลผลิตของเกษตรกร เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมๆ ที่ “ต่างคน-ต่างคิด-ต่างทำ” มาสู่แนวคิด “รวมคน-ร่วมคิด-ร่วมทำ” โดยยินดีที่จะร่วมกันสร้างตลาดข้าวคุณธรรม ใช้ตลาดนำการผลิต เชื่อมโยงตลาดข้าวอย่างบูรณาการ

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 10 สิงหาคม ที่ห้องประชุม สำนักงานชลประทาน ที่ ๖ จังหวัดขอนแก่น ถนนศรีจันทร์ ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น ขอนแก่น 40000 นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ที่จังหวัดขอนแก่น โดยมี ชัยธวัช   เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายอนันต์   สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.พัฒนา  นุศรีอัน เกษตรและสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ว่าที่ ร้อยโท วรวุฒิ  ขอดจันทึก เกษตรจังหวัดขอนแก่นและผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมประชุมชี้แจง

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมชี้แจงโครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร ที่จังหวัดขอนแก่น ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ ทั้งข้าวอินทรีย์และข้าว GAP จึงได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อหาตลาดมารองรับผลผลิตของเกษตรกร การประชุมนี้จัดขึ้นเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานในพื้นที่ใน 8 จังหวัดภาคอีสานซึ่งเป็นแหล่งข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม โดยได้หารือร่วมผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ถึงรายละเอียดโครงการเชื่อมโยงตลาดเพื่อรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าวนาแปลงใหญ่ GAP

นางสาวชุติมา กล่าวอีกว่า โครงการนี้ปรับกระบวนทัศน์ในวงจรข้าวให้เกิดการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับกลุ่มเกษตรกรอย่างแท้จริง โดยมีการจับคู่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ กับกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ และข้าวนาแปลงใหญ่ GAP อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้ประกอบการจะซื้อข้าวตามคุณภาพในราคาสูงกว่าตลาด 300 – 500 บาท โดยผู้ประกอบการจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยแนะนำช่องทางตลาดให้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โครงการดังกล่าวมีความตั้งใจจริงที่จะสร้างห่วงโซ่การค้าคุณธรรมที่ยั่งยืน ซึ่งทุกฝ่ายที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานมีความเกื้อกูลกัน เปลี่ยนจากแนวคิดเดิมๆ ที่ “ต่างคน-ต่างคิด-ต่างทำ” มาสู่แนวคิด “รวมคน-ร่วมคิด-ร่วมทำ” โดยยินดีที่จะร่วมกันสร้างตลาดข้าวคุณธรรม ใช้ตลาดนำการผลิต เชื่อมโยงตลาดข้าวอย่างบูรณาการ ทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่การค้าข้าวคุณธรรมจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

นางสาวชุติมา กล่าวต่อว่า กุญแจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ชาวนาและผู้ประกอบการผลิตข้าวที่มีคุณภาพ คือ ผู้บริโภค กระทรวงเกษตรฯ มุ่งยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวและมีระบบตรวจสอบที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคที่ซื้อข้าวจากกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับข้าวคุณภาพดี ปลอดภัยจากสารตกค้าง คุ้มกับราคาที่สูงขึ้น และขอเชิญชวนผู้ประกอบการร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การค้าข้าวคุณธรรมที่ยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาไทย และร่วมกันแก้ไขปัญหาข้าวที่อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนานให้หมดไป

ทั้งนี้ โครงการเชื่อมโยงตลาดสินค้าข้าวอินทรีย์ และข้าวนาแปลงใหญ่ GAP ครบวงจร มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (ปี 2560 – 2564) มีปริมาณข้าวที่คาดว่าจะผลิตได้ทั้งสิ้น 10 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดูแล การเชื่อมโยงผลผลิตกับผู้เข้าร่วมโครงการในการรับซื้อ รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการชดเชยดอกเบี้ยอย่างรัดกุมโปรงใส ให้ผลประโยชน์ตกสู่กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตอย่างแท้จริง นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดสรรโควตาร้อยละ 10 ของโควตาการส่งออกข้าวไป EU จำนวน 2,000 ตัน/ปี สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อีกทั้งยังสนับสนุนค่าตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อการส่งออกตามที่ประเทศผู้ซื้อกำหนด รวมถึงทำการตลาดและรณรงค์ให้มีการบริโภคข้าวอินทรีย์ และข้าวนาแปลงใหญ่ GAP มากขึ้น นางสาวชุติมา กล่าว

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่กรมการข้าว หรือสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด ภายในวันที่ 20 สิงหาคมนี้ โดยกรมการข้าวจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการค้าข้าวที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ต่อไป

 

 

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads