วันเสาร์ 20 เมษายน 2024

มข.จับมือ มช.จัดโครงการ SUNSpACe ฝึกอบรมพัฒนา เพื่อสร้างทักษะให้แก่เกษตรกรอัจฉริยะ

มข.จับมือ มช.จัดโครงการ SUNSpACe ฝึกอบรมพัฒนา เพื่อสร้างทักษะให้แก่เกษตรกรอัจฉริยะ
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

มข.จับมือ มช.จัดโครงการ SUNSpACe ฝึกอบรมพัฒนา เพื่อสร้างทักษะให้แก่เกษตรกรอัจฉริยะ

โครงการ SUNSpACe ย่อมาจาก SUstainable developmeNt Smart Agriculture Capacity ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการฝึกอบรม เพื่อสร้างทักษะให้แก่เกษตรกรอัจฉริยะ (smart farmer) โดยใช้เทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ใน 3 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศเนปาล และประเทศภูฏาน


เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ ผ่านมา ณ ห้องอบรมและสัมมนา สวนเสียงไผ่ กรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ ไอชา เซ็กคารี (Prof.Aicha Sekhari) Université Lumière Lyon 2 เป็นประธานเปิดโครงการ SUNSpACe ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนของโครงการ ERASMUS+ (อีราสมุส พลัส) ภายใต้ Key Action: ความร่วมมือสำหรับนวัตกรรมและการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีด้าน การเพิ่มขีดความสามารถของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งเริ่มโครงการในเดือน มกราคม 2562 และจะสิ้นสุดในเดือนมกราคม 2566 โดยในระยะเวลาของโครงการฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมมือกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยี ให้กับเกษตรกรไทยไปมากกว่า 500 คน ด้วยเหตุนี้โครงการฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรในการจัดงาน Smart Farming Sustainable Workshop ขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือความร่วมมือระหว่างประเทศยุโรปและเอเชีย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

 

ศาสตราจารย์ ไอชา เซ็กคารี

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ศาสตราจารย์ ไอชา เซ็กคารี (Prof.Aicha Sekhari) Université Lumière Lyon 2 ได้กล่าวถึงกิจกรรมหลักที่ได้ดำเนินการในโครงการ SUNSpACe ได้แก่ 1. การฝึกอบรมเกษตรกร ใน 4 โมดูล ได้แก่ Digital Agriculture, Smart Farming, Standards & Norms และ Business Models
2. การพัฒนาศูนย์นำร่อง 3 แห่ง ได้แก่ เกษตรออแกนิกส์ เกษตรคุณภาพ การทำงานเกษตรที่เหมาะสม
3. การพัฒนาศูนย์วิจัยเกษตรอัจฉริยะในประเทศพันธมิตร
4.การริเริ่มสร้างเครือข่ายการเกษตรอัจฉริยะในเอเชียและการแลกเปลี่ยนความรู้ของศูนย์นำร่อง


กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้มาแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเกษตรกรไทยไปสู่เกษตรอัจฉริยะ ด้วยกลไกต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ผ่าน Agriculture Intelligence Center (AIC) และเครือข่ายกลุ่ม Young Smart Farmer ซึ่งมีมากกว่า 20,000 คนทั่วประเทศ ตลอดจนนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานคณะกรรมการการลงทุนและอุตสาหกรรมเกษตรฮาลาล ซึ่งแสดงให้เห็นโอกาสในการยกระดับสินค้าเกษตรไทย โดยการเพิ่มมูลค่าผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และมาตรฐานฮาลาล ซึ่งจะช่วยให้เกษตรไทยมีรายได้มากขึ้น พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ยาซีน อุซรุต (Prof. Yacine Ouzrout) ได้กล่าวถึงกรอบความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศยุโรป และเอเชีย ผ่านกลไก Erasmus+ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งมหาวิทยาลัย Université Lumière Lyon 2 ประเทศฝรั่งเศส มีศูนย์ความเป็นเลิศและนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านมาตรฐานและกระบวนการพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง จำนวนมาก พร้อมให้ความร่วมมือกับพันธมิตรในประเทศไทย ตลอดจนคุณไก่ สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ประธานมูลนิธิ Earth Safe ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเกษตรปลอดเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ตามพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยเกษตรกรที่ได้การรับรองมาตรฐาน Earth Safe จะมีช่องทางในการขายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น โดยจะร่วมกับร้านค้าในเครือข่ายของ Earth Safe ต่อด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้ให้เห็นโอกาสของ อาหารฮาลาล อาหารมังสวิรัติ (vegan) และอาหารแพลนต์เบส (plant-based) ซึ่งมีการเติบโตอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคเนื่องจาก การปนเปื้อนของสิ่งต้องห้ามตามมาตรฐาน ซึ่งทางศูนย์ฯ มีเครื่องมือทดสอบที่ดีอันดับต้นของโลก และพร้อมให้การสนับสนุน ส่วน ดร.ณพศิษฎ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ได้เปิดเผยแผนการพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรของไทย ซึ่งในปี 2566 จะมีจำนวนโดรนมากขึ้นกว่า 100,000 ลำ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และกฎระเบียบในการบิน รวมถึงทักษะการบินโดรนของเกษตรกรในอนาคต

   ด้านศาสาตราจารย์ คลอดีน เกย์ (Prof.Claudine Gay) ได้อธิบายถึงความสำคัญของการรับรองสมรรถนะของแรงงานทักษะในยุโรป โดยใช้ EU Qualification Framework ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทักษะของเกษตรกรในยุโรปและเอเชีย และคุณโอมิกา บุญกัน ผู้อำนวยการสำนัก สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้อธิบายกระบวนการรับรองสมรรถนะของเกษตรกรอัจฉริยะ และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร โดยแบ่งเป็น 8 ระดับ อีกทั้งยังสามารถเทียบโอนประสบการณ์คุณวุฒิวิชาชีพได้

ผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์


ผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า โครงการ SUNSpACe เราได้เริ่มมาจนถึงโครงการสุดท้าย ในประเด็นทั้ง 4 เรามีกิจกรรมมากมายที่เกิดขึ้นในโครงการ ทั้งเรื่องออกแบบโครงการหลักสูตร ในการพัฒนาอบรม เรียกว่าเทรนเนอร์ สำหรับคนที่ไปเทรนกับเกษตรกรต่อ และได้อบรม Smart Farmer ไปทั่วเอเชีย มากกว่า 500 คน ส่วนในประเทศไทยก็ประมาณ 200-300 คน ที่ ได้รับการฝึกอบรมจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เป็น Partner หลัก ในโครงการ SUNSpACe วันนี้มีความยินดีมากที่เรามี Partner ได้เข้าร่วมโครงการ ก็เหมือนจะเป็นงานปิดโครงการ แต่ก็ดูเหมือนว่ามีกิจกรรมให้ได้ดูต่ออย่างมากมาย สมกับวัตถุประสงค์ของงานในวันนี้ คือต้องการเห็นความยั่งยืน ไม่อยากให้โครงการจบแล้วก็จบไป แต่อยากเห็นการต่อยอด และในวันนี้ในนามตัวแทนของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ขอขอบคุณทุกคน มีความยินดีมากที่ทุกคนมาร่วมสร้างพัฒนาเกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน ให้เป็นโมเดลในหลายๆที่ต่อไป

รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช


ส่วน รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับโครงการ SUNSpACe ซึ่งเป็นโครงการวิจัย ที่ต้องการสร้างความยั่งยืน ให้แก่เกษตรพัฒนาอัจฉริยะ เพราะฉะนั้นการจัดสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นการเผยแพร่ถ่ายทอด การดำเนินงานของเราในการทำวิจัย ซึ่งเราทำงานวิจัยมาเกือบ 4 ปี ก็ได้ผลงานต้นแบบ โมเดล และได้รูปแบบในการที่ จะพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตร อัจฉริยะ ดังนั้นเราจึงต้องการการสนับสนุน ในการมีส่วนร่วมจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และไปสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับการเกษตรของไทย


รศ.ดร.เพ็ญศรี กล่าวอีกว่า ดังนั้นในวันนี้ เราจึงได้เรียนเชิญผู้แทน ผู้บริหารจาก หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเกษตรอัจฉริยะ และเรื่องของการที่จะพัฒนา การเกษตรของไทย มาร่วมรับฟังและนำข้อมูลที่ ที่เกิดขึ้นวันนี้ เพื่อที่จะไปวางแผนในการใช้ประโยชน์ต่อไป รวมทั้งเราได้จัดนิทรรศการ เพื่อให้ทุกท่านที่ได้มาร่วม กิจกรรมในวันนี้ได้เห็น ภาพและได้สัมผัสว่า แต่ละประเทศที่ได้ร่วม โครงการนั้นได้ดำเนินการของการเกษตรอัจฉริยะอย่างไร และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้มารู้จักกัน และให้มีเวลาเพื่อจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งก็เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน เพื่อที่จะนำกิจกรรมดีๆสิ่งดีๆ และความรู้ดีๆไป ไปใช้ในการพัฒนาเกษตรกรของไทย ให้มีความเป็นเกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืนต่อไป

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads