วันพฤหัสบดี 2 พฤษภาคม 2024

‘สช.’ชักชวน นักสานพลัง’ 35 ชีวิต ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

‘สช.’ชักชวน นักสานพลัง’ 35 ชีวิต ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

‘สช.’ชักชวน นักสานพลัง’ 35 ชีวิต ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สช.เดินหน้าจัดการพัฒนาศักยภาพหลักสูตร คนส. ตลอด 3 วัน ระดมเครือข่าย 35 ชีวิต พัฒนาสู่ “นักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่” ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้-สร้างความเข้าใจระบบสุขภาพ “ดร.สุวิทย์” ร่วมฉายภาพการเปลี่ยนแปลงระดับโลกสู่การเชื่อมโยงความสมดุล ด้าน “นพ.วิวัฒน์” ให้ประสบการณ์ขับเคลื่อนนโยบาย ถ่ายทอดความสำเร็จจากการผลักดันลดโซเดียม-ถุงยางอนามัย 100%


วันนี้ 13 มิ.ย.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการที่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดกระบวนการ “การทบทวนตัวเองและเป้าหมายร่วมผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม” ภายใต้โครงการหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่ (คนส.) รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 9-11 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสร้างและพัฒนาศักยภาพคนทำงานกลุ่มใหม่ (New Cohort) ให้กับพื้นที่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจที่ทำงานด้านสังคม ภาควิชาการ และคนทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีประสบการณ์การทำงานด้านสังคม รวมกว่า 35 คน
สำหรับหลักสูตร คนส. ถือเป็นการต่อยอดจากหลักสูตรนักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนาสังคมสุขภาวะ (นนส.) ซึ่งเน้นการเรียนรู้และสร้างเครือข่ายอย่างยืดหยุ่นต่อเนื่องระยะยาว มีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการเรียนของผู้เข้าร่วม โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี เริ่มรุ่นแรกปี 2566 และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องก่อนขยายรุ่นต่อๆ ไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วนในจำนวนมาก และสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่การสร้างสุขภาวะในพื้นที่ได้จริง

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยในการบรรยายพิเศษ “โลกเปลี่ยน คนปรับ… โลกขยับ ไทยพร้อม” ระบุว่า ปัจจุบันเราอยู่บนโลกใบใหม่ หรือ A Whole New World ซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และเกิดสภาพปัญหาที่หลากหลายอันเนื่องมาจากความไม่สมดุล ทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อม ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และในเชิงการพัฒนา ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี โดยปัญหาทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อกันในลักษณะหนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม หรือ One World One Destiny


“โลกจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขก็ต่อเมื่อเกิดความสมดุล แต่ทุกวันนี้เต็มไปด้วยความไม่สมดุลในหลายมิติ เราสนใจคุณภาพชีวิตส่วนตัวมากกว่าของคนทั้งโลก เรามุ่งใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัดแต่กลับละเลยศักยภาพมนุษย์ที่มีอย่างไม่จำกัด เราง่วนอยู่กับคนรุ่นเดิมแต่ไม่ค่อยคิดเผื่อแผ่ไปถึงคนรุ่นต่อไปเท่าไร เรามัวแต่คิดถึงการบริโภคในเชิงปริมาณแต่ไม่ได้มองในเชิงคุณภาพ หรืออย่างตอนนี้เราก็เน้นไปกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ทั้งที่จริงแล้วสิ่งสำคัญที่สุดคือปัญญามนุษย์” ดร.สุวิทย์ กล่าว

   ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลง ความไม่สมดุล ที่เชื่อมโยงปัญหาทั่วโลกเข้าด้วยกันอย่างเป็นพลวัตร ดังนั้นการใช้กลยุทธ์เดิมจึงไม่เพียงพอ แต่คุณสมบัติของนักสานพลังที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการพัฒนาได้นั้น จะต้องกลับมาทบทวนกรอบคิด มุมมอง และกระบวนทัศน์ใหม่ๆ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง ก่อนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ด้วยความเข้าใจอย่างเป็นองค์รวมและหนทางที่จะสร้างให้เกิดความสมดุล ทั้งนี้ ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงทางด้านการแพทย์และระบบสุขภาพ มองว่า 4 ทิศทางหลักที่จะต้องให้ความสำคัญคือ 1. Balanced Life การทำให้ผู้คนมีชีวิตที่สมดุล ไม่ว่าจะเป็นการงาน การใช้ชีวิต ฯลฯ จึงจะนำไปสู่ความยั่งยืน 2. Holistic Wellbeing การมองสุขภาวะอย่างเป็นองค์รวม ไม่ใช่ปัจเจก โดยทำให้คนและสังคมเกิดสุขภาวะที่ดีไปพร้อมกัน 3. Preventive Care ให้ความสำคัญกับหลักการป้องกัน มากกว่าการรักษาโรค 4. Personalized Healthcare มุ่งสู่การตอบโจทย์ที่บุคคล ชุมชน สามารถดูแลสุขภาพด้วยกันเองได้

นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร
ขณะที่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมบรรยายพิเศษ “การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ: ประสบการณ์ไทยและต่างประเทศ” ตอนหนึ่งว่า การกำหนดนโยบายสุขภาพในประเทศไทย ผู้มีบทบาทไม่ได้มีเพียงรัฐบาลหรือข้าราชการเท่านั้น แต่ภาคประชาสังคมก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายผ่านกลไกต่างๆ หรือหนึ่งในนั้นก็คือกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ

ด้านนพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า ตัวอย่างจากการที่ตนได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนานโยบาย เช่น นโยบายลดการบริโภคเกลือและโซเดียม ได้ผลักดันเข้าสู่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 โดยมีข้อมติที่สำคัญคือให้มีการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานระดับชาติ และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ จนนำมาสู่การเกิดเป็นแผนงานลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย หรือโครงการถุงยางอนามัย 100% ที่ตั้งเป้าป้องกันเชื้อเอดส์ทางเพศสัมพันธ์ในประชาชน โดยมุ่งการดำเนินงานไปที่การสร้างสภาพแวดล้อม ให้เกิดการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีการซื้อ-ขายบริการทางเพศ และสร้างความร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารของจังหวัด ทั้งภาคส่วนผู้ว่าราชการ ตำรวจ และสาธารณสุข จนเกิดความสำเร็จในการป้องกันโรค

   ทั้งนี้ จากประสบการณ์ในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพที่ผ่านมา จึงได้สรุปออกมาเป็น 10 มาตรการในการพัฒนานโยบาย คือ 1. การจัดทำข้อมูลทางวิชาการเผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ 2. การนำเสนอในที่ประชุมสัมมนาทางวิชาการ 3. การจัดทำเอกสารเชิงนโยบาย (policy brief) 4. การดำเนินการผ่านระบบราชการปกติ จากหน่วยงานรับผิดชอบ สั่งการผ่านผู้บริหารสูงสุดขององค์กร5. พัฒนาตนเองให้เป็นผู้กำหนดและสั่งการด้านนโยบาย 6. การใช้กลไกสมัชชาสุขภาพ 7. การใช้กลไกการดำเนินงานทางนิติบัญญัติ 8. การสร้างตัวเองเป็น change agent (influencer หรือ champion) 9. การร่างนโยบายสำหรับผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบาย 10. การใช้กลไกงบประมาณสร้างนโยบายและการขับเคลื่อน

นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล
ส่วน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพที่จัดขึ้นตลอด 3 วันนี้ ผู้เข้าร่วมกว่า 35 คนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในระบบสุขภาพ และกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม มีตัวอย่างเครื่องมือ รวมถึงบทบาทขององค์กรและภาคส่วนต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานนโยบายสาธารณะในระดับต่างๆ สู่การสร้างสุขภาวะในระดับพื้นที่
ตบท้ายที่ นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาศักยภาพในครั้งนี้แล้ว หลังจากนี้ผู้เข้าร่วมยังจะมีกิจกรรมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบออนไลน์ รวมกว่า 15 ชั่วโมง การลงไปเรียนรู้จากพื้นที่ปฏิบัติการจริงเป็นระยะเวลา 5 วัน รวมไปถึงกิจกรรมการเสริมสร้างสมรรถนะ และประชุมปฏิบัติการเพื่อออกแบบโครงงานร่วมกัน รวมเป็นระยะเวลาอีกกว่า 7 วัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดที่ดำเนินไปตลอดช่วง 3 เดือนนี้ จะนำไปสู่การสร้างภาคีเครือข่ายที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ทั้งในระดับชาติและพื้นที่ พร้อมหนุนเสริมการทำงานร่วมกันในระยะยาว เพื่อมุ่งสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยต่อไป.

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads