วันเสาร์ 4 พฤษภาคม 2024

“มข.”ผนึกกำลัง ม.เซาท์เวสต์เจียวทง เปิดตัวสถาบันระบบรางเทียนโย่ว ด้านรถไฟความเร็วสูง

“มข.”ผนึกกำลัง ม.เซาท์เวสต์เจียวทง เปิดตัวสถาบันระบบรางเทียนโย่ว ด้านรถไฟความเร็วสูง
Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

“มข.”ผนึกกำลัง ม.เซาท์เวสต์เจียวทง เปิดตัวสถาบันระบบรางเทียนโย่ว ด้านรถไฟความเร็วสูง

มข. ลงนามบันทึกข้อตกลงการจัดตั้งสถาบัน พร้อมเปิดสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute ร่วมกับ SWJTU สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินหน้าหลักสูตร High Speed Train Engineering เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม  ตลอดจนเพื่อจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง”


     เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่น รายงานว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ Southwest Jiaotong University (มหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทง) สาธารณรัฐประชาชนจีน จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute พร้อมจัดพิธีเปิดสถาบัน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายในงานได้รับเกียรติจาก นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ,Ms. Yang Ning รักษาการกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ จังหวัดขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น Prof. Yao Faming รองอธิการบดี Southwest Jiaotong University (SWJTU) สาธารณรัฐประชาชนจีน ผู้บริหาร Tianyou Railway Institute และ China Railways International Thailand อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น ผู้บริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoA) ในการจัดตั้งสถาบัน The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute


   รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความร่วมมือทางวิชาการและวิจัยระดับประเทศด้านรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การคมนาคมในภูมิภาค ร่วมกับ Southwest Jiaotong University (SWJTU) ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนและสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้ง High Speed Train ยังเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยอีกด้วย
“มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธกิจและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญของชาติด้านรถไฟความเร็วสูง จึงกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์รถไฟความเร็วสูงร่วมกับมหาวิทยาลัย Southwest Jiaotong (เจียว-ทง) ภายใต้ชื่อหลักสูตร “วิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง” หรือ “High Speed Train Engineering” เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และก่อตั้งสถาบัน KKU-SWJTU Tianyou (เจียว-ทง) Railway Institute ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อจัดฝึกอบรม ให้ความรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านรถไฟความเร็วสูง”


   Prof. Yao Faming รองอธิการบดี Southwest Jiaotong University (SWJTU) สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า ระบบรางรถไฟไทย-จีนเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” one belt one road) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในแถบคาบสมุทรอินโดจีน โดยเฉพาะระหว่างไทยและจีนถือเป็นถนนสายหลักและกุญแจสำคัญ ด้วยความก้าวหน้าของนโยบาย one belt one road ส่งผลให้ไทยและจีนมีโอกาสมากขึ้นในการผลักดันและพัฒนาการขนส่งระบบราง
   มหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทงในฐานะสถาบันอุดมศึกษาด้านวิศวกรรมแห่งแรกของประเทศจีน และเป็นสถานศึกษาด้านของการรถไฟแห่งแรก ๆ ของประเทศจีน ได้ขับเคลื่อนงานด้านวิศวกรรมมาตลอด 127 ปี ผลิตผู้มีความรู้ความสามารถกว่า 300,000 คน และได้ผลิตนักวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศกว่า 60 คน และผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและออกแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศอีก 31 คน เพื่อก้าวจากอันดับหนึ่งของจีนสู่อันดับหนึ่งของโลก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน ถือเป็นการสร้างต้นแบบนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมการขนส่งของจีน
“การก่อตั้งสถาบันระบบรางเทียนโย่ว โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยเซาท์เวสต์เจียวทงจะก่อเกิดคุณประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย นำเอาจุดเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัย หลอมรวมเป็นการแลกเปลี่ยนทางการศึกษารูปแบบใหม่ระหว่างจีน-ไทย”


   ขณะที่ รศ.ดร.รัชพล สันติวรากร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Southwest Jiaotong University มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตร “วิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง” (High Speed Train Engineering) รองรับกับเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และรวมถึงการนำความเจริญสู่ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ จึงต้องพัฒนาบัณฑิตที่มีความรู้มีคุณภาพและศักยภาพพร้อมรองรับในตลาดแรงงานในอนาคตตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรบุคลากร มีผู้เชี่ยวชาญ กอปรกับมีความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีที่แน่นแฟ้นกับ Southwest Jiaotong University ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง โดยได้มีการแลกเปลี่ยน การเยี่ยมเยือน การประชุมหารือในการจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ตลอดจนได้รับสนับสนุนจากกงสุลใหญ่ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ณ จังหวัดขอนแก่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ช่วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ขับเคลื่อนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง ในยุคดิจิทัล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้บัณฑิตในตลาดแรงงานยุคแห่งการแข่งขันมีโอกาสได้งานทำสูงในตลาดแรงงาน กอปรกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในการผลิตบัณฑิตคุณภาพสู่สังคม Future Global Citizens.


   ด้าน Ms. Yang Ning รักษาการกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสักขีพยานในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ  สถาบัน Tianyou Railway Instutiue ในต่างประเทศแห่งแรกของโลก  ในปีนี้เป็นปีครบรอบ 10 ปีของการริเริ่มแบบแผนโครงการเส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21“一带一路” (หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง)  การจัดตั้ง “สถาบัน Tianyou Railway Instutiue”  จึงนับเป็นโอกาสอันดี ในการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาและโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้แก่ผู้เรียนในภูมิภาคประเทศไทยและเอเชียได้พัฒนาทักษะ ศักยภาพ เสริมสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถด้านรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้  ” จีน-ไทย กลายเป็น ครอบครัวเดียวกัน”  และเพื่อให้ทั้งสองประเทศ  กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น


   ทั้งนี้ สำหรับพิธีลงนามการจัดตั้งและเปิดศูนย์The KKU-SWJTU Tianyou Railway Institute  และหลักสูตร  (High Speed Train)  ในครั้งนี้ มีข้อตกลงสำคัญ เพื่อส่งเสริมการดำเนินโครงการวิจัยร่วมกัน แลกเปลี่ยนเยี่ยมชม และฝึกอบรมด้านการขนส่งทางราง แลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษาทั้งสองสถาบัน ก่อให้เกิดองค์ความรู้ การถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับสูงรวมไปถึงการผลิตบัณฑิตที่จะตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูงของประเทศ เพื่อสร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถมีคุณภาพและศักยภาพด้านวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูง เพื่อรองรับในตลาดแรงงาน โดยมีระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2571)


ขณะที่ นายพิธิวัฒน์  อังศุวิริยะ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 ในนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ระบุว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่จะได้มีหลักสูตรใหม่ ๆ ส่วนตัวมีความสนใจเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นนวัตกรรมของประเทศจีน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ จึงได้ยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการ เบื้องต้น ทราบว่าจะได้เดินทางไปศึกษาระบบราง และรถไฟความเร็วสูงที่ประเทศจีนด้วย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้สั่งสมประสบการณ์เพื่อต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพวิศวกรรถไฟความเร็วสูงต่อไป.

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads

About The Author

Related posts

Header Ads
Header Ads
Header Ads
Header Ads