‘อนุชา’ ชู 4 นโยบาย ผนึกพลังภาคี สช. สร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม
“รมช.สธ.อนุชา” เข้าเยี่ยม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประกาศจุดเน้น 4 ประเด็นเร่งด่วนสร้างระบบสุขภาพชุมชน ด้วย “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับภูมิปัญญาท้องถิ่น – เกษตรปลอดสาร – เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ – สังคมผู้สูงวัยเกื้อกูลกัน” มุ่งสร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม เชื่อมโยงภาคี ร่วมก้าวข้ามข้อจำกัด เสริมพลังขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ-คุณภาพชีวิตทุกมิติ
เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2568 นายอนุชา สะสมทรัพย์ รมช.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และประธานกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ได้เดินทางมายังอาคารสุขภาพแห่งชาติ จ.นนทบุรี เพื่อพบปะพูดคุยและหารือแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. กับ สช. โดยมี นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. พร้อมด้วย ศ. วุฒิคุณ นพ. พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการบริหาร สช. และ ผศ.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ กรรมการบริหาร สช. และ ประธานอนุกรรมการฯ ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ด้านสังคม ให้การต้อนรับ
นายอนุชา เปิดเผยว่า คำที่สำคัญและตรงกับบทบาทภารกิจของ สช. คือ “สร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม” คำนี้ถือเป็นหลักการใหญ่ในการพัฒนานโยบายด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ใช้หลักการนี้มอบนโยบายให้กับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือการสร้างสุขภาวะประชาชนทุกช่วงวัยแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดทั้งความตระหนักรู้ ส่งเสริมป้องกัน ร่วมกันผลักดันนโยบายที่ดี ฉะนั้นในส่วนของ สช. ซึ่งทำงานครอบคลุมทั้งกาย จิตใจ สังคม และปัญญา และมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 อันเป็นกฎหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วม เป็นกฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน จึงยังคงขอใช้คำเดียวกันในการมอบนโยบาย แต่ในรายละเอียดจะมีจุดมุ่งเน้นที่แตกต่างออกไป
สำหรับการทำงานของ สช. ซึ่งมีจุดแข็งคือภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการหนุนเสริมนโยบายรัฐบาลในการดูแลประชาชนในทุกช่วงวัย จึงขอฝากความหวังไว้กับ สช. ในการสานพลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิดสิ่งดีๆ ส่วนประเด็นที่อยากให้น้ำหนักในการขับเคลื่อนงานหลังจากนี้มีด้วยกัน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกับภูมิปัญญาท้องถิ่น 2. เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย 3. เด็กและเยาวชนสุขภาพดีเติบโตอย่างมีคุณภาพ 4. คุณภาพชีวิตผู้สูงวัยที่เกื้อกูลกัน ซึ่งทั้ง 4 ประเด็นนี้มีความเชื่อมโยงกัน สัมพันธ์กัน และอาจพูดได้ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะท้ายที่สุดจะนำไปสู่รูปธรรมของการสร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนตัวเป็นคนที่มีบุคลิกเข้าถึงได้ง่าย การทำงานในฐานะรองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ ส.ส.นครปฐม ก็มุ่งเน้นไปที่ประชาชนในระดับพื้นที่และกลุ่มคนเปราะบางเป็นสำคัญ ที่ผ่านมามีโอกาสทำงานร่วมกับชุมชนและอาสาสมัครต่างๆ และแน่นอนว่า ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคฯ ย่อมทำงานเชื่อมโยงกับหัวหน้าพรรคฯ คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นของมนุษย์ (พม.) ตรงนี้ช่วยยืนยันว่าทั้งเรื่องสุขภาพและสังคมจะไร้รอยต่อ การทำงานหนุนเสริมกันและกันระหว่าง สธ. กับ พม. จะช่วยก้าวข้ามข้อจำกัด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนได้อย่างแน่นอน
“ในส่วนการทำงานร่วมกันนั้น ผมมี 5 หลักการที่อยากฝากทุกท่าน คือ 1. มุ่งเป้าเห็นผลสำเร็จระยะสั้นใน 3 เดือน และทำได้ต่อเนื่องจนเกิดความยั่งยืน 2. เลือกประเด็นสาธารณะที่ประชาชนต้องการ 3. สร้างการมีส่วนร่วมเป็นที่ยอมรับ 4. การสื่อสารเชิงคุณภาพ ทันสมัย เคลื่อนไหวสังคม 5. เน้นหานวัตกรรมในการขับเคลื่อนการทำงานส่วนร่วม ซึ่งเชื่อว่าหลักการนี้สอดคล้องกับที่คุณหมอสุเทพ เพชรมาก วางแนวทางการบริหารงานของ สช. เอาไว้อยู่ก่อนแล้ว” นายอนุชา กล่าว
พร้อมกันนี้ นายอนุชา ยังได้เสริมความเห็นต่อการขับเคลื่อนงานในประเด็นต่างๆ เช่น การป้องกันโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่ควรมุ่งเน้นการให้ความรู้ สร้างความเคยชินในเชิงของพฤติกรรมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะสามารถทำได้ง่ายกว่า โดยมุ่งเน้นไปที่การศึกษาในระดับอนุบาล ประถม มัธยม ขณะที่การดูแลกลุ่มผู้สูงวัย ส่วนตัวมีแนวคิดที่กำลังขับเคลื่อนใน จ.นครปฐม โดยการให้หน่วยราชการในท้องถิ่นมีศูนย์ Day Care ที่คนทำงานสามารถพาพ่อแม่มาอยู่ในที่ทำงานได้ ในเชิงหนึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการทำงาน เพราะช่วยลดความกังวลจากการที่ต้องทิ้งพ่อแม่ไว้อยู่ลำพังที่บ้าน ในขณะที่ผู้สูงวัยเองเมื่อได้มาอยู่รวมกัน ก็เป็นสภาพแวดล้อมที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรค ลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศไปได้ในตัว
ด้าน นพ.สุเทพ กล่าวว่า นโยบายที่ท่านอนุชา ในฐานะรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลงาน สช. นั้น สอดคล้องและเป็นเนื้อเดียวกับการทำงานของ สช. เป็นอย่างมาก จึงมั่นใจว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง สช. สธ. และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะกลมกลืนและเสริมพลังซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้จุดเน้นเรื่องการสร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นพันธกิจโดยตรงของ สช. ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ยิ่งตอกย้ำว่า ผู้บริหารฝ่ายการเมืองมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม ที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหาอันสลับซับซ้อนได้จริง
นพ.สุเทพ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นได้นำเสนอความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้นายอนุชารับทราบ ประกอบด้วย 1. การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูง 2. การสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) 3. การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ มติ 17.1 เรื่องการท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน 4. เกษตรปลอดสาร อาหารปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหาร 5. การพัฒนาระบบสุขภาพช่องปาก 6. การดำเนินงานสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง โดยใช้พื้นที่เป็นฐานผ่านการบูรณาการระหว่าง 9 หน่วยงาน (ภาคีอาสา)
“ประเด็นที่ สช. ขับเคลื่อนเหล่านี้ตอบโจทย์สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีให้น้ำหนักความสำคัญ และที่ท่านรัฐมนตรียืนยันว่าการขับเคลื่อนงานจะไม่ใช่เพียงแค่ใน สธ. แต่ยังจะเชื่อมต่อไปยังท่านวราวุธ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ด้วย ตรงนี้จะช่วยหนุนเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้การสร้างสุขภาวะแบบมีส่วนร่วมเกิดขึ้นจริงในระดับพื้นที่ และนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งของประเทศต่อไป” นพ.สุเทพ กล่าว.