เวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน”ชูประเด็นการย้ายถิ่นทดแทนประชากรเป็นทางรอดประเทศไทย
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิสานพลังเพื่อแผ่นดิน ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” ครั้งที่ 4 ภายใต้ประเด็น “การย้ายถิ่นทดแทนประชากร (Replacement Migration): โอกาสและความท้าทายที่รอการจัดการ” ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการรับมือโครงสร้างประชากรสูงวัยอย่างเป็นระบบ และเปิดเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุเท่านั้น แต่กระทบต่อทุกระบบในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับพื้นฐาน ท่ามกลางความท้าทายนี้ แผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว (พ.ศ. 2565-2580) ได้กำหนดให้ ‘การย้ายถิ่น’ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญหนึ่ง โดยเน้นการดึงดูดแรงงานคุณภาพทั้งคนไทยและต่างชาติ พร้อมการบริหารจัดการที่เป็นระบบ แต่ในความเป็นจริงพบว่าการบริหารแรงงานย้ายถิ่นของไทยยังขาดความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูล หน่วยงานกลาง หรือมาตรการที่เป็นระบบ ขณะที่อีกหลายประเทศได้พัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจังและเห็นผลชัดเจนแล้ว การขับเคลื่อนประเทศไทยจึงต้องอาศัยการ ‘สานพลังทั้งสังคม’ หรือ Total Social Synergy อย่างจริงจัง”
“เวทีในวันนี้มีเป้าหมายเพื่อทบทวนสถานการณ์ ศึกษานโยบาย แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากทุกภาคส่วน เพื่อสังเคราะห์เป็นแนวทางเชิงนโยบายที่ชัดเจนและนำไปปฏิบัติได้จริง ผมหวังว่าเวทีวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสานพลังร่วมกัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และก้าวสู่ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน” เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าว
นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษ ศ. (เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการ “เติมคน” ให้กับโครงสร้างประชากรไทยที่กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต จากอัตราการเกิดต่ำ และจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยเหลือเพียง 34 ล้านคนในปลายศตวรรษนี้ หากไม่ดำเนินการใดๆ
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอดในปี 2573 โดยมีผู้สูงอายุเกิน 25% ของประชากรทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน อัตราการเกิดกลับลดต่ำลงเหลือเพียง 1.0 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ซึ่งต่ำกว่าประเทศญี่ปุ่น อันเป็นสัญญาณอันตรายที่กำลังบั่นทอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่เวทีนี้ให้ความสำคัญคือ “การย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากร” โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวทางจากหน่วยงานสำคัญ อาทิ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเน้นให้เห็นว่าการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและการดึงดูดแรงงานทักษะสูงอย่างเป็นระบบ จะช่วยรักษาขนาดกำลังแรงงานและพยุงเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้ ภายในเวทีได้นำเสนอบทเรียนจากต่างประเทศ เช่น แคนาดา เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ที่ประสบความสำเร็จในการดึงดูดแรงงานต่างชาติและวางระบบการให้สถานะถาวรแก่ผู้ย้ายถิ่นอย่างมีกลยุทธ์ พร้อมข้อเสนอให้ไทยปฏิรูประบบวีซ่าแบบเน้น “ทักษะ” มากกว่าทรัพย์สิน จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะด้านการย้ายถิ่น และผ่อนคลายกฎหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แรงงานต่างชาติตั้งรกรากในไทยได้ในระยะยาว
ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังขับเคลื่อนนโยบายรองรับสังคมสูงวัยฯ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญในการ สานพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคท้องถิ่น เพื่อร่วมกันหาทางออกเชิงนโยบายต่อปัญหาโครงสร้างประชากรอย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอให้รวมศูนย์การจัดการแรงงานข้ามชาติ ตั้งหน่วยงานเฉพาะ จัดระบบฐานข้อมูล และปฏิรูปกฎหมายให้ทันสมัย โดยอ้างอิงจากแผนพัฒนาประชากรระยะยาว (พ.ศ. 2565–2580) ที่เสนอ “การย้ายถิ่น” เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของประเทศ
“ประเทศไทยไม่สามารถพึ่งการเพิ่มอัตราการเกิดเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ต้องออกแบบระบบประชากรใหม่ทั้งวงจร การย้ายถิ่นอย่างเป็นระบบคือทางรอดของประเทศ แต่ต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบแรงงาน แผนการพัฒนา และการยอมรับทางสังคมอย่างจริงจัง” นายแพทย์อำพล กล่าว.