“ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภท จ.ขอนแก่น”วอนภาครัฐและเอกชน ให้โอกาสจ้างคนพิการได้มีงานทำเพิ่ม
คนพิการ ในพื้นที่เขต 7 กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ มีอยู่ประมาณ 120,000 กว่าคน และอยู่ในวัยทำงานมีการจ้างงานอยู่ประมาณ 3,000 กว่าคน คิดดูเป็นจำนวนน้อยมาก ดังนั้นโดยความยากลำบากของคนพิการ ทั้งตามองไม่เห็น เดินไม่สะดวก สภาพจิตใจที่ต้องการความดูแล หากได้รับการจ้างงาน ก็จะทำให้ชีวิตของประชาชนคนพิการในเขต 7 ก็จะดีขึ้น
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2568 ที่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาคนตาบอดขอนแก่น บ้านไก่นา ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และกรรมการ คสช.เป็นประธานการประชุม”การส่งเสริมโอกาสการจ้างงานคนพิการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์” โดยมี ดร.ธิรากร มณีรัตน์ ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ตลอดจน ชี้แจงรายละเอียดวัตถุประสงค์การประชุมและแนะนำกลุ่มผู้เข้าร่วม ต่อจากนั้นเป็นการบรรยายพิเศษ เรื่อง “วิสัยทัศน์และบทบาทขององค์กรในการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ” โดย พลอากาศตรี สถิตพงศ์ ภิรมย์ศรี นายกสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทยพร้อมด้วยการนำเสนอข้อมูลโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการโดย นางมานิษา อนันตพล เลขาธิการสมาคมสร้างเสริมโอกาสและอาชีพคนพิการไทย พร้อมทั้งเปิดเวทีชักถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น “การนำเสนอแผนงานและแนวทางการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการในพื้นที่กลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์”ดำเนินรายการ โดย ดร.ธิรากร มณีรัตน์ ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่น
นายสุทธินันท์ บุญมี ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 7 และคณะกรรมการ คสช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้ว่าเพื่อคนพิการ ทั่วประเทศที่ลงทะเบียนประมาณ 1.7 ล้านคน ตลอดจนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นของเรา หรือในกลุ่มร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์ ที่มีคนพิการอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเขตสุขภาพเพื่อประชาชน ในเขตพื้นที่ 7 หรือ กปข. 7 ทำงานร่วมกับสมาคมคนพิการ ปีนี้เป็นปีที่ 8 แล้ว ซึ่งได้ทำงานกันมา เนื่องจากปัญหาที่เราพบ หลักๆของเราคือ ให้คนพิการสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยการให้ความรู้ ในด้านสายอาชีพและสายสามัญต่างๆ โดยเฉพาะจากความสามารถของแต่ละท่าน
อีกประการหนึ่งเมื่อให้ความรู้ไปแล้ว ได้รับการศึกษามาแล้ว แต่ในการจ้างงาน ถึงจะมีกฎหมาย ที่จะบังคับให้สถานประกอบการ ทั้งในหน่วยงานภาครัฐ ได้จ้างคนพิการเข้าทำงาน หรือในภาคเอกชนก็แล้วแต่ และในเวลานี้เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมคนพิการยังตกงานอยู่ ฉะนั้นในวันนี้ที่เรามาคุยกัน เราต้องการที่จะระดมสมอง มาคุยกัน ตนได้คุยกับทางทีมงานว่า เราอยากทราบว่า คนพิการของเราจบการศึกษาระดับไหนบ้าง ฝึกอาชีพอะไรบ้าง จำนวนกี่คนเพื่อที่จะมีข้อมูลจะไปคุยกับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรม ตลอดจนจะแจ้งให้ทั้ง 4 จังหวัด ให้รับทราบ และคนพิการเราต้องการทำงานอะไร เพื่อให้สำนักงานจัดหางานจังหวัด ให้เข้าช่วยเหลือคนพิการจะได้มีงานทำ
ด้าน ดร.ธิรากร มณีรัตน์ ผู้แทนสภาคน
พิการทุกประเภทจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับคนพิการ ซึ่งตอนนี้อยู่ในวัยทำงานนั้น การจ้างงานหรือการทำงานจริงๆ เพียง 25% ซึ่งถือว่าน้อยมาก เราก็อยากได้โอกาสให้คนพิการ ได้มีสิทธิ์จ้างงานด้วย โดยเฉพาะในหน่วยงานภาครัฐ ในปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายว่า ถ้าหากมีพนักงาน 100 คน นั้นต้องมีคนพิการได้ทำงาน 1 คน ปรากฏว่าทุกภาคส่วนก็มีการจ้างงานกันมากขึ้น แต่ในหน่วยงานภาครัฐมีการจ้างงานคนพิการยังไม่ถึง 1% มีหน่วยงานที่จ้างถึง 1% มีแค่ไม่กี่หน่วยงาน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าหน่วยงานภาครัฐ หรือสถานประกอบการต่างๆ ให้โอกาสคนพิการเพียง 1% เข้าไปทำงานตามกฎหมาย ก็จะขอบคุณมาก ตอนนี้คนพิการ ในพื้นที่เขต 7 จังหวัดกลุ่มร้อย-แก่น-สาร-สินธุ์ ของเรามีอยู่ประมาณ 120,000 กว่าคน และอยู่ในวัยทำงานมีการจ้างงานอยู่ประมาณ 3,000 กว่าคน คิดดูเป็นจำนวนน้อยมาก ดังนั้นโดยความยากลำบากของคนพิการ ทั้งตามองไม่เห็น เดินไม่สะดวก สภาพจิตใจที่ต้องการความดูแล หากได้รับการจ้างงาน ก็จะทำให้ชีวิตของประชาชนคนพิการในเขต 7 ก็จะดีขึ้น และก็จะทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ดียิ่งขึ้น
มาที่ นายอดิเรก หงส์พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการดำเนินงาน มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เกี่ยวกับการประชุมเพื่อหางานให้คนตาบอดในครั้งนี้ และสำหรับโรงเรียนคนตาบอด ก็เป็นอีกโรงเรียนหนึ่งของคนพิการด้านสายตา ผู้ด้อยโอกาส สำหรับงานในวันนี้ เป็นการรวบรวมภาคีเครือข่ายผู้พิการทั่วไป ทั้งจังหวัดขอนแก่น และในส่วนของหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ ระดมสมองเพื่อการหาโอกาสในการทำงานของคนพิการ ในส่วนของกลุ่ม จ.ร้อย-แก่น-สาร -สินธุ์ เพื่อจะได้ มีอาชีพในการดำรงชีวิต เพื่อให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ในสังคมต่อไป
“ตนในนามมูลนิธิเพื่อคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สาขาจังหวัดขอนแก่น เป็นองค์กรที่คอยช่วยเหลือผู้พิการด้านการ มองเห็น เป็นองค์กรที่ไม่ได้มองหาผลประโยชน์ผลกำไร แต่เป็นองค์กรคอยให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้พิการ และคอยต้อนรับผู้ใจบุญทุกท่านที่จะเข้ามา ช่วยสนับสนุนคนตาบอดและ เพื่อหารายได้ สมทบทุนช่วยผู้พิการไม่ว่าจะเป็นโครงการผ้าป่ามหากุศล แม้แต่โครงการขายเสื้อเพื่อช่วยเหลือคนพิการ”
ในส่วนหน่วยงานภาครัฐเราได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ได้เข้ามาช่วยสนับสนุน สนับสนุนค่าเล่าเรียนของนักเรียนซึ่งตอนนี้มีนักเรียนอยู่ประมาณ 80 กว่าคน และนักเรียนทุกคนที่มาอยู่กับเราก็เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนกินนอน เราต้องดูแลเขาทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคและการกินการอยู่ ทุกอย่างดังนั้น โรงเรียนธรรมิกชนเพื่อคนตาบอด จังหวัดขอนแก่น ยังรอความเมตตา จากผู้แทนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีจิตศรัทธาอันเป็นกุศล ทุกท่าน โดยเฉพาะช่วงนี้ทางคณะกรรมการของเรา ได้จัดทำเหรียญบูชาหลวงปู่ผาง ของอำเภอมัญจาคีรี ขึ้นมา ปลุกเสกโดยหลวงปู่ศิลา พระเกจิชื่อดังของภาคอีสาน และยังเปิดให้บูชาอยู่ ตอนนี้ ชุดมหาโชค บูชาชุดละ 1,999 บาท เหรียญหลวงปู่ผางทองดำ บูชาเหรียญละ 199 บาท เพื่อจัดหารายได้เข้ามูลนิธิ ช่วยเหลือคนพิการต่อไป และทางโรงเรียนเราก็ยังรอรับบริจาคจากทุกหน่วยงาน ที่มีจิตศรัทธาเพื่อคนตาบอดจังหวัดขอนแก่น
ทิ้งท้ายที่ นางสาวไพรวัลย์ ปะกิระเนย์ มาจากสมาคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาส อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่าในการทำงานนั้นอยากให้หน่วยงานภาครัฐช่วยสนับสนุน ให้เกิดการจ้างงานคนพิการ เพราะว่าการจ้างงานคนพิการ เปรียบเสมือนส่วนสำคัญ ให้โอกาสคนพิการได้มีอาชีพ มีรายได้ให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และในอีกมุมหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นสามารถเป็นต้นแบบ คนพิการในพื้นที่ ที่สามารถทำงานเป็นจิตอาสา และพร้อมที่จะทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนได้
นางสาวไพรวัลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว เป็นผู้พิการเยอะมากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่มีอุปกรณ์ที่จะออกไปข้างนอกได้ และตนก็ถูกกดทับด้วยความเป็นพิการ จึงไม่สามารถทำงานให้เกิดคุณค่า แต่พอได้ลงพื้นที่มาทำงานร่วมกับเพื่อนที่เป็นผู้พิการด้วยกัน จึงทำให้ตนรู้ว่าคนพิการอย่างเราก็สามารถทำงานได้ จึงเป็นที่มาว่าตนมีความพยายามที่จะเข้าร่วมในการทำงานของผู้พิการ และทางหน่วยงานจึงได้มองเห็น ความสามารถของตน โดยมูลนิธินวัตกรรม ที่ได้มองเห็นความสามารถ ก็เลยให้โอกาสสร้างงานคนพิการ แล้วตนเองก็ได้มีทำงานร่วมกับเพื่อนๆพี่ๆ พร้อมทั้งทำงานประสานสิทธิ์บรรเทาทุกข์ด้วย
จึงเป็นที่มาในการเข้าร่วมการทำงานของผู้พิการซึ่งตนเอง เป็นผู้พิการคนหนึ่งที่สามารถพาเขาออกมาเจอสังคมโลกภายนอก ด้วยกระบวนการต่างๆ เช่นเรื่องสุขภาพสุขภาวะ ทักษะการใช้ชีวิตทางสังคม รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมในการจ้างงานด้วย ส่วนตนเองก็มีน้องๆที่เข้าสู่ขบวนการจ้างงาน ด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็น ทำงานในหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดมหาสารคาม ตอนนี้มีทั้งหมด 28 หน่วยงาน และก็มีพี่ๆน้องๆที่เป็นผู้พิการ ที่ทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ประมาณ 26 คน และก็จะมีการส่งเสริมอาชีพด้วย อยู่ประมาณ 8 คนด้วยกัน ทั้งหมดก็จะมี 44 คน
ส่วนบริษัทเอกชนที่มีการจ้างงานผู้พิการก็คือบริษัทแลคตาซอย ซึ่งได้ให้ทำงานในด้านประสานสิทธิ์บรรเทาทุกข์ เปรียบเสมือนการจ้างงานให้ผู้พิการ ไปทำงานเพื่อคนพิการ โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆช่วยสนับสนุน ในการทำงานร่วมกันต่างๆ ส่วนตนเองก็ได้มีเพื่อนร่วมงานและได้ทำงานในส่วนตรงนี้ด้วย ตนเองก็ได้รับบทบาทจากสมาคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของอำเภอวาปีปทุมจังหวัดมหาสารคาม ได้รับโอกาสเป็น นปค. คือหน่วยประสานการจ้างงานคนพิการในพื้นที่ ตนเองก็ได้รับโอกาสทางสังคมด้านนี้ด้วย ให้มีการเกิดมาตรา 35 ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 33, 34 ก็ดี ในมาตรา 35 ก็จะส่งผลให้ผู้พิการในด้านชุมชน ได้มีโอกาสทำงานมากขึ้น.